ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 กรกฏาคม 2563) น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจัตร และ น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ ร่วมพูดคุย exclusive talk สุมหัวคุย เมื่อหนังไทยติด covid19 เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งนำโดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) , นายสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ค่ายภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม , นายยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯ , นายเกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และนายพิทยา สิทธิอำนวย ตัวแทนจากสหมงคลฟิล์ม ที่โรงภาพยนต์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน
โดยนายวิชา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในไทย ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของในเกาหลีใต้ จึงถือว่าอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และที่ผ่านมา 5 ปี ไม่โดน disruption และยังมีอัตราการเติบโตที่ดี แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ประสบกับวิกฤติโควิด-19 แต่ก็คิดว่าช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสของหนังไทย เนื่องจากหนังฮอลลีวูดอาจจะมีข้อจำกัดในการเข้ามา และการจะเติบโตจากนี้ไป เชื่อว่าจากนี้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไทยจะต้องพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะหนังไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“6 ส.ส.ดาวฤกษ์”ลงพื้นที่หนองจอก แก้โครงการเขื่อนกั้นน้ำ
6ส.ส.ดาวฤกษ์หนุน“ลุงป้อม”นั่งหัวหน้าพปชร.
"มาดามเดียร์" นำ "ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์" ลงพื้นที่รับฟังปัญหาน้ำท่วมขังหมู่บ้าน
แต่ทั้งนี้ลำพังภาคเอกชนทำหนังกันเองจะเติบโตได้แค่ระดับหนึ่ง ซึ่งในอดีตภาครัฐก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง เช่น สุริโยไทย ซึ่งหนังไทยถือว่าคุณภาพก็ไม่แพ้ประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องการให้ภาครัฐได้มองว่าจะทำอย่างไรในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นตัวทำเงินเข้าสู่ประเทศได้ ซึ่งหากภาครัฐสามารถช่วยให้หนังไทยไปสู่ประเทศจีนได้ปีละ 2-3 เรื่องเชื่อว่าจะสามารถทำเงินได้จำนวนมาก และเชื่อว่าศักยภาพของเรามีเพียงพอ
ด้าน น.ส.วทันยา กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส. สิ่งที่ตนเน้นย้ำมาตลอดคือการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาตนก็เคยประกอบธุรกิจ ก็เข้าใจว่าเมื่อเจอวิกฤติก็ย่อมได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้น หากภาครัฐได้หันมามองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดโอกาสในวิกฤติแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี โดยวันนี้ต้องยอมรับว่า เรากำลังเจอกับปัญหามากมาย ทั้งนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มางานทำ คนที่กำลังตกงาน และอย่างที่บอกว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีไปไกลมาก ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับของเน็ตฟิก ก็ได้เห็นวิวัฒนาการของหนังเกาหลี โดยเฉพาะสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเขาไปได้ไกลมาก คือ เรื่องของบททั้งภาพยนตร์และละคร ตนจึงอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนี้บ้าง ด้วยการนำ “ซอฟพาวเวอร์” เข้ามาช่วย ซึ่งในเกาหลีมีการนำเอาซอฟพาวเวอร์มาช่วย เพื่อการส่งออกวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว แฟชั่น หรือแม้แต่เรื่องความสวยความงาม
และวันนี้ภาครัฐเอง เราก็เพิ่งผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณกันไป และยังมี พ.ร.ก.เงินกู้ แต่อย่างที่เข้าใจว่าในกฎหมายเหล่านั้นมีรายละเอียดของการใช้เงินกำกับอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังมีเงินนอกงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกหยิบออกมา อย่างเช่น เงินจากกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดยมองว่าวันนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤติ ดังนั้นการรัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ การจะหยิบเม็ดเงินมาสนับสนุนนั้นถือว่าจะต้องมีการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ตนจึงอยากจะเรียกร้อง และเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้
ด้าน น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า ภาครัฐควรจะต้องมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อัตราการว่างงานกำลังสูงขึ้น และยังมีการพัฒนาการของ AI ซึ่งก็จะเข้ามาแทนที่คน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้
ขณะที่ น.ส.ภาดาท์ บอกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นในคำว่า ซอฟพาวเวอร์ คือ การสร้างแรงดึงดูดให้คนเชื่อในสิ่งเดียวกันโดยที่ไม่ต้องบังคับ และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างอุตสาหกรรมหนังในเกาหลีใต้ที่มีการประสบความสำเร็จ อย่างเช่นที่ผ่านมาหนังเกาหลีได้รับรางวัลจากเวทีออสการ์ ซึ่งมองว่าไม่ใช่เพียงแค่คนเกาหลีที่จะดีใจ แต่เชื่อทุกคนในเอเชียก็มีความหวังว่าเราก็จะสามารถแข่งขันได้ และส่วนตัวรู้สึกว่า สิ่งที่เกาหลีใต้มีวันนี้หรือประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เพราะเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการมาพูดคุยกันวันนี้ก็ถือว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนเสียงไปยังรัฐบาลเพื่อให้การสนับสนุน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเรามีคุณภาพ แต่เรารอแค่โอกาสที่จะมีคนช่วยเรา ซึ่งถือว่าวันนี้เป็นโอกาสดีในการเริ่มต้น