ความคืบหน้ากรณีสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้อง และให้ยุติการดำเนินคดีกับ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่ได้มีการคัดค้าน พร้อมกับถอดหมายจับในทุกคดี
ล่าสุด 29 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนระบุว่า
ตามที่พนักงานอัยการมีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตํารวจขณะขับขี่ รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดําเนินคดี ต่อมาคดีบางข้อหา ได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคําสั่ง ไม่ฟ้องและฝ่ายตํารวจไม่มีความเห็นแย้ง
คําสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการี บุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุป พยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดําเนินคดีใหม่เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสําคัญ แก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิกปูม “เนตร นาคสุข” รองอสส.คนสั่งไม่ฟ้องคดี“บอส อยู่วิทยา”
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาจับพิรุธรถยนต์ชนจยย.คดี“บอส อยู่วิทยา”
“พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ”ลั่นยุติคดี“บอส อยู่วิทยา”เป็นไปตามขั้นตอนปกติ
เผย 7 รายชื่อคณะทำงานสอบคำสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา"
โดยที่คดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุ เมื่อ พ.ศ. 2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดีอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคําพิพากษาของ ศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหว กระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม
แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบ ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติก็ตาม แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย
ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นํามาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาดังกล่าวมี 10 คน โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการอีก 9 คน ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม, นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ., คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง, ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป