“ธานี”ลั่นกมธ.ยุคสนช.ช่วย“บอส อยู่วิทยา”เหตุรธน.เปิดช่อง

29 ก.ค. 2563 | 12:14 น.

“ธานี”แจงยิบช่วยคดี “บอส อยู่วิทยา” ตามรธน.เปิดช่องช่วยคนเดือดร้อน ไม่ได้ชี้ผิด-ชี้ถูก อัดสื่อจินตนาการ อย่าโยง“วงษ์สุวรรณ”

วันนี้ (29 ก.ค.63) นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย (กมธ.) กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงกรณีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.ในคดีขับรถชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.59 นายธนิต บัวเขียว ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้มายื่นขอความเป็นธรรม ในประเด็นว่า คำสั่งของรองอัยการสูงสุด ที่ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม โดยไม่นำเอาข้อเท็จจริงในส่วนของคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญและรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาสั่งคดีนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงใช้ช่องทางมาร้องต่อ กมธ.ขอให้สอบถามข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเร็วรถในขณะเกิดเหตุ ทาง กมธ.จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สนช. เพื่อตรวจสอบตามระเบียบ

 

ต่อมาศูนย์ดังกล่าวได้รับเรื่องและพิจารณาเห็นว่า อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กมธ.กฎหมายฯ และไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.ชุดอื่น จึงส่งเรื่องกลับมาให้พิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ ทาง กมธ.จึงมีมติรับเรื่องไปสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คน คือ อดีตรองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ พยาน 2 ปาก และพยานแวดล้อม 2 ปาก

 

จากนั้นได้ทำหนังสือถึงอธิบการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจ้อมเกล้า พระนครเหนือ ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสภาพความเสียหายและคำนวณความเร็วของรถ โดยได้ส่ง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มาทำการตรวจสอบ และส่งผลการตรวตสอบกลับมายัง กมธ. จากนั้นได้รวบรวมผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งไปยังอัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

 

“ผมยืนยันว่าการดำเนินการของ กมธ.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 ม.13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เรามีหน้าที่เพียงสอบหาไม่ใช่สอบสวน”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในรายงานของคณะกรรมาธิการมีความเห็นอย่างไร นายธานี กล่าวว่า ตามอำนาจของกมธ.ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูก เพราะเราไม่ใช่อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต.ที่จะวินิจฉัยได้ เรามีหน้าที่แค่เสนอผลการศึกษา คำชี้แจงของผู้มาชี้แจง การศึกษาเรื่องการคำนวณความเร็วรถของผู้เชี่ยวชาญ โดยนำเสนอไปยังหน่วยงานทีเกี่ยวข้องให้พิจารณาเท่านั้น

 

เมื่อถามว่าผลการศึกษาเรื่องความเร็วไม่ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช่หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า เรื่องนี้แบบออกเป็นสองประเด็น คือ เมื่อคนในองค์กรถึงแก่กรรมก็ต้องเร่งดำเนินการ และได้มีการสอบเพิ่มเติมหลังจากมีการร้องกับ สนช. ทางอัยการสูงสุดได้สั่งให้สอบเรื่องความเร็วว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เจ้าพนักงานจึงไปทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาระดับนายพลจากความเร็วเดิม 177 กม.ต่อ ชม. ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเป็นจริง คือ 76 กม.ต่อ ชม. ก่อนที่จะมาชี้แจงอีกครั้งกับ กมธ. ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดร.สายประสิทธิ์ ที่น่าเชื่อถือเพราะเป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นสมาชิกเอเชี่ยน เอ็นแคป และในรายงานของ กมธ.ที่เสนอไปให้อัยการ คือ 79 กม.ต่อ ชม.

 

เมื่อถามว่าเหตุใดไม่นำข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่งยืนยันว่า ความเร็วรถเกิน 100 กม.ต่อ ชม. มาตรวจสอบ นายธานี ตอบว่า เพราะไม่มีคนยื่นคำร้องมา แต่ทาง กมธ.ได้เชิญสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ยศ พ.ต.ท. ซึ่งทำคดีมาจำนวนมาก มาให้ความเห็นด้วย ก็ยืนยันว่า จากสภาพความเสียหาย ความเร็วไม่น่าจะเกิน 80 กม.ต่อ ชม.

 

นายธานี ชี้ว่า วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือที่สุด พยานบุคคลยังกลับไปกลับมา ถ้าสงสัยสื่อก็ต้องไปหาความรู้ หาแหล่งอ้างอิงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้กับประชาชนว่าวิธีการสืบหาข้อเท็จจริง โดยที่เราไม่ได้ว่าจินตนาการ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่การกระทำความผิดไม่เลือกวัย ไม่เลือกความจน ความรวย ทุกคนมีโอกาสทำความผิดกันหมด แต่ข้อเท็จจริงถ้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วศาลจะเชื่อถือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าบุคคล

 

ส่วนพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวทั้งที่คดีดังกล่าวผ่านมา 7 ปี นายธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พยานท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง จึงไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเห็นว่าเรื่องเริ่มบานปลายไปกันใหญ่ จึงได้ออกมาเป็นพยานให้ ขอร้องอย่าจินตนาการแบบนี้ อย่านำเปลือกหรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติมาอ้าง ซึ่งอีก 7 วันทางอัยการก็จะรวบรวมหลักฐาน พยาน เพื่อชี้แจง แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยตรวจสอบว่ามีเหตุผลหรือไม่

 

“อัยการและตำรวจมีหน้าพิจารณามูลเหตุว่าเพียงพอฟ้องหรือไม่ และอัยการเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตามอำเภอใจ หรืออัยการก็ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ หรือไม่ใช่พนักงานส่งอาหารที่มาอย่างไรก็ส่งไปอย่างนั้น เขามีดุลพินิจในการวินิจฉัย ถ้าใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจก็จะติดตัวเขาไปจนตาย ตรงนี้ฝากสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนบ้าง ขอให้สื่อใจเย็นและให้สติปัญญากับประชาชน อย่าเร่งเร้า ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานรนรานไปหมด”

 

นายธานี ยืนยันว่า กมธ.มีหน้าที่ตรวจสอบแต่ไม่มีอำนาจในการสั่งหรือก้าวก่าย และพนักงานอัยการจะนำผลการศึกษาของกมธ.ไปใช้สั่งสำนวนไม่ได้ แต่หากอัยการสงสัยก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนในประเด็นนั้นๆ เพิ่มเติม และไม่มีการตัดสินชี้ถูกชี้ผิด

 

เมื่อซักว่าทำไมกมธ.ถึงเรียกพยาน 2 ปาก ซึ่งอัยการตีตกพยานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว นายธานี กล่าวว่า มีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของนายวรยุทธ ว่า การไม่ฟังพยาน 2 ปากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายและไม่เป็นธรรม

 

ส่วนที่ นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตัวของตระกูลอยู่วิทยา และอดีต ส.ว. เคยร่วมทำงานกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ใน กมธ.การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ปี 2551 มีกระแสข่าวว่าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ กมธ.กฏหมาย สนช. ปี 2557 ซึ่ง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร เป็นประธาน นายธานี ตอบว่า เท่าที่ทราบ นายธนิต คือ ทนายความที่รับมอบอำนาจให้มายื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว ส่วนจะเป็นตัวแทนนายสมัครหรือไม่ ไม่ทราบ ตั้งแต่ตนเป็น กมธ.ยืนยันไม่เคยเจอนายสมัคร

 

นายธานี กล่าวด้วยว่า กรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีต ผบช.น. และ อดีต สนช. ออกมาเปิดเผยว่าในชั้น กมธ.ได้ตีตกเรื่องนี้ไปแล้ว นั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ สนช.มีงานเยอะ พล.ต.ท.ศานิตย์ จึงอาจสับสนได้ และกมธ.ไม่เคยชี้ขาด ไม่มีการทำความเห็นให้อัยการส่งสำนวนไปยังตำรวจเพื่อทบทวนอีกครั้ง

 

นายธานี ยอมรับว่า ผลการศึกษาเรื่องความเร็วของ กมธ. ตรงข้ามกับหลักฐานเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นที่สงสัยของตน และ กมธ.เช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้มาร้องเรียนหลังเจ้าพนักงานทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชา และตัวผู้เชี่ยวชาญที่มาศึกษาก็มีความรู้ความสามารถทำคดีมาหลายคดี มีต้นทุนทางสังคม

 

ส่วนสภาพของรถที่หลายคนสันนิษฐานว่ายับเยินมากกว่าความเร็วที่ 76 กม.ต่อ ชม. นายธานี ชี้แจงว่า จากรายงานให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องมวลของรถเฟอร์รารีที่หนัก และรถมอเตอร์ไซค์มีมวลรถที่เบา

 

ส่วนหากวิ่งด้วยความเร็วดังกล่าวแล้วทำไมนายวรยุทธถึงมองไม่เห็น ลากร่างผู้เสียชีวิตถึง 200 เมตรนั้น อาจมีรถกระบะมาบัง จึงมองไม่เห็นคนที่ถูกชน และมีการสันนิษฐานเป็น 2 ประเด็น คือ รถเบรกแล้วแต่ไม่มีรอย เพราะด้วยประสิทธิภาพของรถหรู หรือมีความเป็นไปได้ว่าไม่เบรก ส่วนเรื่องยาเสพติดในตัวนายวรยุทธ ไม่มีการร้องเรื่องนี้เข้ามา ดังนั้น กมธ.จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ

 

เมื่อถามย้ำว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ผู้เสียหายไม่ได้ร้องมาที่ สนช. และจากบันทึกของตำรวจนายวรยุทธ ได้มีการเยียวยาให้กับครอบครัวผู้ตายไปแล้ว อีกทั้งญาติก็ไม่ได้ร้องว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา ถามว่าจะให้สอบประเด็นอะไร เท่าที่ดูข่าวเขาก็ได้รับค่าเสียหายไปแล้วจริงและไม่ติดใจ ที่สำคัญ ทางญาติก็ไม่ได้นั่งรถไปกับผู้เสียชีวิตและเห็นเหตุการณ์ หากไม่เรียกมาจะถือว่า กมธ.ผิด อย่าอคติกับ กมธ.ว่า ช่วย นายวรยุทธ เพราะไม่รู้จะช่วยไปทำไม ยืนยันว่ากมธ.ให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย

 

“ผมอยากจะเตือนสติสังคมว่าไปย้อนดูว่ามีกี่สื่อ กี่ฉบับที่เมื่อศาลพิพากษาแล้ว หรือยกฟ้อง แล้วมีคนตกเป็นจำเลยตามที่สื่อเสนอ แล้วสื่อไปขอโทษด้วยจิตวิญญาณของวิชาชีพ เขาเสียหายขนาดไหน อยากจะเตือนสติไว้บ้างว่าเราเองขายข่าวได้เป็นประเด็น แต่ต้องมีสติ ให้สังคมได้พัฒนา หยิบเอาประเด็นมาเป็นจินตนาการแบบนั้นแบบนี้ เมื่อเขาพิสูจน์ได้ ก็เงียบไป ไม่เห็นมีสื่อไหนถือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา ขอเถอะ ขอให้มีสติให้สังคมพัฒนาขึ้น ปฏิรูปสื่อสักที” นายธานี กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้มีการโยงไปถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการจินตนาการใช่หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า “คงอย่างนั้น อย่าไปผูกโยงว่าคนตระกูลนี้ผิดไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ ก็อย่าเหมารวม เพราะมันไม่เป็นธรรม”