คงเป็นเพราะแรงกดดันจากสังคมที่โหมกระหน่ำทวงถามความชัดเจนตลอดหลายวันมานี้ กรณีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” หรือ "บอสกระทิงแดง" ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต จากการขับรถชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ซึ่งมีกำหนดจะหมดอายุความในวันที่ 3 กันยายน 2570
ซ้ำร้ายเมื่อปรากฏข่าว ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องดังกล่าวนี้พร้อมถอนหมายจับในทุกคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันตอกย้ำความรู้สึกของสังคมว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คดี"บอส อยู่วิทยา" ม.ชื่อดังร่วมกระหน่ำ "อัยการ-ตำรวจ"
คดี"บอส อยู่วิทยา" ตร.ลั่นจบแล้วโยนครอบครัวฟ้องเอง
ตระกูล 'อยู่วิทยา' ร่อนจม.เปิดผนึก ลอยแพ 'บอส กระทิงแดง'
"นายกฯ" ลุยเอง ตั้ง 10 กรรมการ สอบคดี “บอส อยู่วิทยา”
“ธานี”ลั่นกมธ.ยุคสนช.ช่วย“บอส อยู่วิทยา”เหตุรธน.เปิดช่อง
สิ่งที่มักเกิดขึ้นตามมาหรือทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อซื้อเวลา
ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังถูกสังคมวิพากวิจารณ์อย่างหนักหน่วง มีการตั้ง "คณะกรรมการ" ขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้แล้วอย่างน้อย 3 ชุด โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีอัยการไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ดี สำหรับคณะกรรมการชุดนี้นั้นตามคำสั่ง ระบุถึง อำนาจและหน้าที่ไว้ว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้เป็นข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีนี้
ด้านสำนักงานอัยการสูงสุด หน่วยงานต้นทางของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกวิพากอย่างหนัก นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งที่ พิเศษ/2563 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีบอส อยู่วิทยา รวม 7 คน เมื่อวันที่26 กรกฎาคม 2563 มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงาน กำหนดกรอบเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่น้อยหน้า โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีบอส อยู่วิทยา ขึ้นมาอีกชุด มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการรวม 10 นาย ตีกรอบให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง
ได้แต่หวังว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้นั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ "การซื้อเวลา" ที่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็น "มวยล้มต้มคนดู" เหมือนที่ผ่านๆมา