จากงานเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และอดีตอัยการสูงสุด มาร่วมเสวนาเพื่อหาทางออกของคดีนี้นั้น นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กล่าวให้ความเห็นตอนหนึ่งว่า ปัญหาความสงสัยทางคดีในครั้งนี้ร้ายแรงมากที่สุดและเรียกร้องให้คดีนี้ต้องนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาลให้ได้ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่คัดค้านความเห็นของอัยการได้อย่างไร
ในขณะที่อัยการที่มีการสั่งให้สอบสวนพยานในคดีขึ้นใหม่นั้น สามารถหักล้างพยานหลักฐานที่ตรวจพบในครั้งแรกได้จริงหรือไม่ เพราะการนำหลักฐานที่เปรียบเทียบกันในครั้งแรกกับที่มีการเผยแพร่กันยังไม่มีการอธิบายอย่างโปร่งใส ส่วนการพิจารณาจากความเห็นของพนักงานสอบสวนที่ทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้เสียชีวิต เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีนั้น จากการสอบสวนพยาน 2 คนให้การว่า ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนกะทันหัน จนทำให้นายบอส อยู่วิทยา ผู้ที่ก่อเหตุชนแล้วลากผู้เสียชีวิตไป 200 เมตร เป็นเหตุสุดวิสัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“บอส อยู่วิทยา” อัยการเคยสั่งฟ้องคดีไปแล้ว เพิกถอนไม่ได้
เปิด 7 เหตุผล อัยการสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”
กมธ.ตำรวจ จ่อเรียกอัยการ-หมอฟัน แจงคดี"บอส อยู่วิทยา"
“ปองพล”ถามชาวไทยลืมได้หรือคนทำผิดก.ม.รอดกลายเป็นผู้บริสุทธิ์
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะแสดงให้เห็นว่า สำนวนชี้ไปว่า ด.ต.วิเชียร เป็นผู้ประมาทเองจนทำให้อีกฝ่ายขับรถชนก็ยิ่งส่งผลถึงที่อัยการไม่สั่งฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตเพราะสำนวนชี้ไปว่า นายวรยุทธไม่ได้ขับรถประมาท
สำหรับตามกฎหมายที่ระบุว่า หากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ไม่สามารถฟ้องคดีใหม่ได้จนกว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ หรือญาติผู้เสียหายฟ้องเอง ซึ่งขณะนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ทำให้อาจจะไม่สามารถฟ้องคดีต่อได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ยังมีพยานหลักฐานใหม่โดยเฉพาะการวัดความเร็วของรถที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาแสดงความคิดเห็นจึงอยากให้เชิญทุกคนมาร่วมเสนอความเห็นและหลักการวัดทางวิทยาศาสตร์ให้สิ้นสงสัยกัน
ส่วนเรื่องการพบสารเสพติดชนิดโคเคนในร่างกายนายบอสนั้น หากตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 95 การเสพยาเสพติดประเภทที่ 2 มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี ยังมีอายุความ 10 ปี ทำให้ข้อหานี้ยังสามารถแจ้งกับผู้ต้องหาได้แต่จะต้องดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนที่ไม่สั่งฟ้องคดีตั้งแต่แรกหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบที่ดุลยพินิจในตอนแรกประกอบ
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ จึงมีอำนาจสั่งทบทวนได้ หากพบว่าการไม่คัดค้าน การสั่งไม่ฟ้องอัยการของตำรวจในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้นายกฯก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วและสามารถคาดหวังได้เพราะมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นหลักฐานใหม่ทางคดีที่น่าจะนำมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใหม่ได้ นายปริญญา ระบุ