วันที่ 4 ส.ค.63 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) มีการแถลงข่าวผลการตรวจสอบ การสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา ที่มี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ หลังใช้เวลาตรวจสอบคดีดังกล่าวเป็นเวลา 1 สัปดาห์
โดยหนึ่งในประเด็นที่เป็นปัญหา และคณะทำงานฯ เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีคือ "ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด" ท่ามกลางความสงสัยของสังคมว่า คืนวันเกิดเหตุ "นายวรยุทธ อยู่วิทยา" ขับรถเฟอรารี่ด้วยความเร็วเท่าไรกันแน่
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายประเด็นนี้ว่า การสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อเสนอไปยังผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ย่อมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องของคำสั่ง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ตามป.วิอาญามาตรา 147 ระบุว่า หากมีคำสั่งเด็ดขาดแล้วไม่ให่สอบสวนคดีนั้นอีก เว้นแต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพยานหลักฐานใหม่ที่มีความสำคัญก็จะนำไปสู่ให้ศาลลงโทษผู้นั้นได้ นี่คือหลักกฎหมาย
เพราะเมื่อปรากฏข้อมูลนี้ออกไปมีพยานสำคัญคือ คำให้ข้อเท็จจริงของพยานปากหนึ่ง ในการไปร่วมรายการของสื่อมวลชนหลายรายการคือ "ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์" อาจารย์ประจําภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ท่านให้ข้อเท็จจริงว่าในวันเกิดเหตุได้รับการประสานกองพิสูจน์หลักฐานกลางให้เป็นที่ปรึกษา และได้ให้ความเห็นในคดีสำคัญ คดีนี้ดร.สธนก็ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ต.ธนสิทธิ์ แตงจั่น จากกองพิสูจน์หลักฐานในคดีนี้ให้ลงพื้นที่พร้อมกัน ตรวจจากกล้องวงจรปิด วัดบริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นได้ทำรายงานลงความเห็นทางวิชาการ ซึ่งพ.ต.ต.ธนสิทธิ์ก็ระบุว่าความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน ดร.สธน ก็ทำรายงานความเร็วประมาณ 170 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมงเช่นกัน และส่งรายงานนั้นให้พ.ต.ต.ธนสิทธิ์เพื่อนำไปใส่ในสำนวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คณะทำงานของอัยการสูงสุดตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดแล้ว ไม่มีหลักฐานชิ้นนี้ ไม่มีข้อเท็จจริงใดใดจาก ดร.สธน ดังนั้นนี่คือหลักฐานใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 ที่เป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิสูจน์คดีนี้ได้"
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ระบุว่า นายจารุชาต มาดทอง พยานคนสำคัญในคดีนี้ ไม่ใช่พยานใหม่ แต่เป็นพยานที่ให้การหลังเกิดเหตุแล้ว 5 วัน ว่ารถมอเตอร์ไซของดต.วิเชียร อยู่ด้านหน้าเขา แล้วมาตัดหน้า แต่ไม่ได้ระบุความเร็วในการให้การครั้งแรก ตำรวจที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุบอกว่าไม่น่าจะเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และประเด็นที่ชนแล้วกระเด็นไป 200 เมตรก็ยังคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง
"ชน 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงน่าจะแรงมากกว่านี้ แต่ผมว่าไม่ใช่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราตรวจสำนวนขนาดนี้นะครับ ถ้าลากศพไปผมก็คิดว่าเละไม่มีชิ้นดี แต่สภาพศพดูแล้วยังเรียบร้อย แต่ชนแน่นอน พวกผมยืนดีรับฟังทุกคน แม้กระทั่งโซเชียล ในทีวีก็ฟัง และคิดว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ถ้ามีพยานหลักฐานเหล่านี้"
นายปรเมศวร์ บอกด้วยว่า ถ้ามีรายงานของ อาจารย์สธนอยู่ในสำนวนตั้งแต่ต้นเราจะสบายใจกว่านี้ แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมีแค่กระดาษใบเดียวแล้วต่อมาก็ลดความเร็วลงเรื่อยๆ เหลือ 80 พนักงานสอบสวนก็บอกให้เอาซีดีดูใหม่ เหลือ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกับแสดงวิธีคิดจนสุดท้ายเหลือ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นความเร็วที่นายเนตร นาคสุขอ่านสำนวนคือไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เลยสั่งสอบเพิ่มเติมคือนายจารุชาต มาดทอง ที่ไม่เคยระบุความเร็วเลย จึงสอบใหม่ เขาบอกว่าวิ่งมา 60-70 ฉะนั้นความเร็วจึงลงมาไม่เกิน 80 ดังนั้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ดร.สธนระบุว่าน่าจะประมาณ 170 จึงเบรคไม่ทัน แต่ที่ไม่มีรอยเบรคเพราะเป็น ABS ที่ไม่มีรอยเบรคเหมือนการเบรคด้วยดิสเบรค
นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะเลขานุการคณะทำงาน เสนอว่าถ้าประชาชนมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ความเร็วของรถได้ว่า ผู้ต้องหาเขาขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ขอให้แจ้งมายังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งพนักงานจะทำคดีนี้ต่อไป
"ยืนยันสำนักงานอัยการสูงสุดจะทำความจริงให้ปรากฏ โดยไม่ละทิ้งไม่ไม่ถือว่าคดีนี้มันจบไปไม่ได้"
นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนระบุว่า ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เลยความเห็นดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นจากประจักษ์พยาน แต่เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆในการให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เมื่อคดีขับรถประมาทพยานในที่เกิดเหตุ สภาพความเสียหายมีความน่าเชื่อถือมากกว่าประจักษ์พยานที่มีอ้างว่ามีในสำนวนการสอบสวนนั้นจะมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อมีสภาพสอดคล้องกับสภาพพยานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏเท่านั้น
สำนวนนี้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญให้ความเห็นความเร็วของรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ท่านพิจารณาจากสภาพความเสียหายจากรถทั้งสองคัน เมื่อมีการเฉี่ยวชนกัน พยานทั้งสองปากให้น้ำหนักความเร็วในระยะใกล้เคียงกันโดยไม่ได้ใช้การคำนวนเหมือนกับ พ.ต.ต.ธนสิทธิ์ ที่ให้ความเห็นไว้ว่า 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในความเห็นของพนักงานอัยการที่สั่งคดีนี้ตั้งแต่แรก เมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเป็นความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พนักงานอัยการก็มีความเป็นว่าประมาท
อย่างไรก็ตามในเวลาผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันก็ให้ความเห็นว่าในขณะที่ให้ความเห็นนั้นมีความไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน ในการพิจารณาความเร็ว แล้วท่านก็ให้ความเห็นความเร็วว่าอยู่ในความเร็วที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับพยานทั้งสองปากที่เคยให้การ ดังนั้นในขณะที่ขับรถความเร็วเท่าไร แต่ในการสั่งสำนวนคดีนี้ไม่ปรากฏความเร็วเกินเลยไปกว่านี้นะครับ
หลังจากสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากไม่สามารถหาความเร็วได้จากที่ใด แล้วจึงมีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเร็วในขณะที่เฉี่ยวชนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากความเร็วที่อยู่ในความเห็นในตอนแรกนั้นคือไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ย่อมถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ใช้ในการประมวลความเห็นคำสั่งอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากข้อมูลประกอบการใช้ดุลพินิจนั้นมันเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นกระบวนการในการหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีต่อไปก็เป็นไปตาม ป.วิอาญา ม. 147 ซึ่งก็มีคดีที่เคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วนำคดีขึ้นมาพิจารณาต่อไปได้ ไม่ใช่การรื้อฟื้น เพราะคดียังไม่ได้ข้อยุติเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนคำพิพากษาศาลฎีกา
มุมมองการทำงานของคนที่ทำคดี เราสั่งคดีตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ น่ารับฟังเท่าไร นั่นเป็นอีกกรณีที่จะใช้ในการหาพยานหลักฐานที่ดีที่สุดต่อไป
เราพบว่าในกรณีของการสอบสวนเรื่องนี้ การเจาะเลือดของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วกลับมาเหลือ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ได้ลงไปสอบสวนเพิ่มทำ แต่ไม่โทษพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานแล้วว่าควรจะได้มาดูด้วยกันหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนควรจะได้ร่วมกันเข้าไปสอบสวนเรื่องนี้อย่างทันท่วงที ถ้าเรื่องนี้มีการเจาะเลือดทันทีที่้เกิดเหตุความเห็นในความผิดอาจจะเปลี่ยนแปลงไป