วันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐ วิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีการเชิญ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องในคดีของนายวรยุทธ หรือ “บอส อยู่วิทยา” และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดีนี้ของฝ่ายอัยการ นำโดย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา และ นายฤชา ไกรฤกษ์ อธิบดีอัยการ เจ้าของสำนวน
พร้อมเชิญ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่ตรวจวัดความเร็วรถของ “บอส อยู่วิทยา” 76 กม./ชม. มาชี้แจงข้อเท็จจริงการทำคดีต่อกรรมาธิการ แต่ในวันนี้นายเนตร ไม่ได้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการแต่อย่างใด
นายประยุทธ กล่าวว่า การสั่งไม่ฟ้องของนายเนตรครั้งนี้ มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งนายวรยุทธมีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้ง รวมถึงการร้องต่อ สนช. ทำให้มีพยานยืนยันสอดคล้องตรงกันว่าความเร็วรถของนายวรยุทธ ไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนนายสายประสิทธิ์ ยืนยันว่า เป็นการคำนวณตามหลักการ ทางวิชาการ โดยวิเคราะห์จากภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความเร็วจากหน้าปัดนาฬิกาที่โชว์บนคลิป และใช้สูตรปกติคือ ระยะทางหารด้วยเวลา ซึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เวลาคำนวณการใช้ถุงลมนิรภัยจะใช้กล้องความเร็วสูงประมาณ 500 เฟรมต่อวินาที ดังนั้นสมมติฐานที่เกิดขึ้นเป็นการทำตาม หลักการ และจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่ดุลพินิจของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.
ด้านพล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่มีคำสั่งฟ้อง นายวรยุทธ กล่าวว่า โดยคำสั่งของผบ.ตร.กำหนดกรอบเวลาทำงาน 15 วันซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะครบ ทางคณะกรรมการฯจะรวบรวมข้อเท็จจริงในส่วนของตำรวจ โดยมีการวางกรอบ การทำงานเอาไว้แล้ว รวมถึงขั้นตอนที่ไม่เห็นแย้งของผู้ช่วยผบ.ตร. กรณีอัยการไม่ฟ้องคดีนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และอยู่ระหว่างการสอบสวน ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษากมธ.ฯ กล่าวว่า คดีนี้มีสิ่งผิดปกติไปจากแบบแผนของการทำคดี การสอบสวน และการติดตามตัวผู้ต้องหาหลายอย่าง ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติก็ถือเป็นคดีที่ธรรมดามาก โดยเฉพาะความผิดปกติของพยานหลักฐานและพยานบุคคล โดยพยานบุคคลนั้นไม่เคยมีใครออกมาพูดว่า แต่ละคนมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือรู้เห็นในเหตุการณ์ตรงนั้นจริงหรือไม่ มีแต่พูดคำบอกเล่าของพยาน ซึ่งในวิชาชีพกฎหมายนั้นฟังไม่ได้
ทั้งนี้ ประเด็นหลักอยู่ที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการที่ใช้ดุลยพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ไม่มีใครตอบได้นอกจากคนทำ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องออกมาชี้แจงเองว่าเหตุผลที่สั่งเพราะอะไร หากผิดต้องรับผิดส่วนตัว แต่กลับเอาองค์กรของตัวเองผ่านคนอื่นมาชี้แจง สรุปแล้วขณะนี้สังคมกำลังถูกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจ มาอธิบายสิ่งที่คนอื่นทำ ส่วนคนที่ทำไม่ต้องพูด ตนถามว่ามันปกติหรือไม่
"ผมสงสัยว่าเพราะอะไรทั้ง 2 องค์กรถึงพร้อมใจกัน เอาชื่อเสียงเกียรติยศกระบวนการยุติธรรมของประเทศ มาเสี่ยงกับคนเพียงแค่ 2 คน แทนที่จะให้คน 2 สองคนนั้นมาชี้แจงกับสังคมเอง แต่กลับทำในสิ่งที่ท่านบอกว่าทำไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวฟังไม่ได้ ในฐานะคนในวิชาชีพกฏหมาย ผมขอเถอะ [เอาเกียรติยศของผู้รักษากระบวนการยุติธรรมออกมา ใครผิดให้เขาผิดไป ใครถูกให้เขาชี้แจงเองไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเอาความเห็นส่วนตัวมาชี้แจงแทนคนอื่น"นายพีระพันธุ์ กล่าว
ส่วนนายฤชา ชี้แจงว่า ในฐานะส่วนตัวความจริงพยานนิติวิทยาศาสตร์กรณีนี้บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย เพราะจับรถด้วยความเร็วสูงก็เป็นการประมาทแล้ว อย่างไรก็ตามนายฤชา ปฏิเสธที่จะชี้แจงในประเด็นที่ก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการท่านอื่นหลังจากรับสำนวนต่อ เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกมธ.มีมติร่วมกันว่าจะส่งหนังสือเชิญบุคลเข้าชี้แจงต่อกมธ.อีกครั้ง อาทิ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. และนายวรยุทธ อยู่วิทยา เป็นต้น