อื้ออึง พรึงเพริศกันทั้งประเทศไทย เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่มี นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ที่พิจารณากันว่า จะมีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการใช้ดุลยพินิจของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ขับชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 จนหลุดคดีทุกกรณี แล้วปรากฏว่า ที่ประชุม ก.อ.มีมติไม่เห็นชอบ 9:5 เสียง จากผู้เข้าประชุม 14 คน
เมื่อเสียงโหวตจากคณะกรรมการ ก.อ.เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบ จึงตั้งคณะอนุกรรมการมาสอบสวนนายเนตร นาคสุข ไม่ได้
นายอรรถพล บอกว่า ในที่ประชุม ก.อ. บางส่วนบอกให้ชะลอการตั้งอนุกรรมการออกไปก่อน ก.อ.บางคนไม่มีการอภิปราย แต่โหวตไม่เห็นชอบ โดยในขั้นตอนการโหวต นายเนตรต้องออกจากที่ประชุม และการที่นายเนตรมาประชุม แสดงว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้ลงนามอนุญาตให้ลาออก
มติที่ออกมาแบบนี้บอกได้ว่า ประธานคณะกรรมการอัยการที่มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมายปฏิรูปอัยการ พ่ายแพ้ต่อข้าราชการอัยการที่มาโดยตำแหน่งแบบหมดรูป เพราะประธานคณะอัยการเป็นผู้ทำเรื่องการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการคนนอกขึ้นมา สอบสวนการตัดสินใจสั่งคดีของนายเนตร รองอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการอัยการยังมีศักดิ์ศรีให้ยืนอยู่อีกเรื่องคือ การทำความเห็นในประเด็น เรื่องการร้องขอความเป็นธรรมที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของนายเนตร นาคสุข นั้นไม่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งในเรื่องนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาความเห็นของประธาน ก.อ. โดยมอบให้ ไพบูลย์ ถาวรวิจิตร รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
มติที่ออกมาแบบนี้ทำให้สังคมไทยหันมาตั้งคำถามกันดังๆ ว่า
1.ผู้คนในประเทศนี้พึ่งพากรมอัยการที่เป็นต้นธารแห่งความยุติธรรมได้หรือไม่
2.สังคมควรปล่อยให้ต้นธารแห่งความยุติธรรมในชั้นกระบวนการสอบสวนตัดตอนคดีที่จะขึ้นไปสู่ศาล โดยที่ชาวบ้านทั่วไปมิอาจเอื้อมกระทำได้
3.การแก้กฎหมายพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ที่กำหนดว่า ประธาน ก.อ.จะต้องมาจากการเลือกตั้งอัยการทั่วประเทศจากเดิมอัยการสูงสุด (อสส.) จะนั่งควบเก้าอี้นี้อยู่ แต่กฎหมายใหม่ ประธาน ก.อ. จะต้องไม่เป็นข้าราชการอัยการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวบอำนาจการสั่งคดี และการบริหารงานบุคคลเอาไว้ที่คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว และมีการเลือกตั้งกันไปสดๆร้อนๆ ในเดือนมีนาคม 2562...ยังมีช่องโหว่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุติธรรมอำพราง “คดีบอส” ฟ้าผ่าใส่ “สำนักงานอัยการ”
ก.อ.จ่อออกระเบียบสอบ“เนตร นาคสุข”สั่งไม่ฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”
เรื่องนี้ พรานบุญ คอลัมนิสต์ฐานเศรษฐกิจเคยนำเสนอไปวันก่อนว่า 18 สิงหาคม 2563 การประชุม ก.อ.จะเดือดปุดๆ แน่! และไม่รู้ว่ามติในการแก้ปัญหาความเสื่อมศรัทธาของประชาชนในการนำคดีใหญ่ของคนที่เงินหนา ปาเป้าเก่ง ไปไม่ถึงศาลจะออกมาแบบไหน...
แต่ได้ชี้โพรงไปว่า มติน่าจะออกมาเป็นฝ่ายบริหารของข้าราชการอัยการ 9 คะแนน ส่วนที่เหลืออีก 6 คนนั้น ไม่แน่ว่าจะยืนในฝั่งนายอรรถพล ประธาน ก.อ.หรือไม่ สุดท้ายคะแนนผิดไปแค่ 1 คน เพราะมติออก 9:5
คราวนี้มาดู คณะกรรมการอัยการผู้ลงมติ “ให้ตั้งกรรมการมาสอบนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด” มี 5 เสียง ประกอบด้วย 1.นายอรรถพล ประธาน ก.อ. ที่มาจากการลงคะแนนเลือกมาอย่างท่วมท้น 1,810 คะแนน จากบัตรลงคะแนนทั้งสิ้น 3,061 ใบ ชนะคู่แข่งอันดับสอง พชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูสุดที่ได้ไป 1,036 คะแนน
2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ก.อ.ที่มาจากการลงคะแนนของอัยการชั้น 2 ขึ้นไป (พ้นจากอัยการผู้ช่วย) 1,244 คะแนน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3,537 คน
3.นายไพรัช วรปาณิ ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สมัย และที่ปรึกษาฯคณะกรรมาธิการกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นก.อ.ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามา
4.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกเข้ามาจากข้าราชการอัยการ
5.นายชาตรี สุวรรณิน อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี อดีตผู้ตรวจการอัยการสูงสุด ผู้เคยเขียนเอกสารวิจัยเรื่อง “การชะลอฟ้อง” และ “ปัญหาการบังคับคดีชั้นอัยการในการบังคับโทษปรับ”และได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ
แล้วอีก 9 คน ที่ลงคะแนนเสียง “ไม่เห็นด้วยให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข” ที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมรวม 14 ครั้ง และไม่เคยมีสักครั้งที่จะมีการรับคำร้อง แม้แต่นายเนตรเองก็เคยไม่รับคำร้อง แต่สุดท้ายกลับรับคำร้องและสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดนายบอส อยู่วิทยา อันสะท้านปฐพี...กรรมการอัยการเหล่านั้นมาจากกลุ่มไหน
มาจากกลุ่มกรรมการอัยการที่มาจากการดำรงตำแหน่งและอาวุโสในสำนักงานอัยการสูงสุด 5 คน ประกอบด้วย 1.นายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด เป็นรองประธานกรรมการอัยการ 2.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด 3.นายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด 4.นายสุริยะ แบ่งส่วน รองอัยการสูงสุด 5. ร้อยโท ไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด
ขาดไป 1 คน คือ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดที่กฎหมายห้ามเข้าร่วมประชุมในกรณีที่เกี่ยวพันกับตัวเอง
คนที่ 6 ไม่ต้องบอกว่าเป็นใครก็พอจะเดาได้ เธอคือ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาตามมาตรา 18 (5) ตามกฎหมายชื่อ นางพิมพร โอวาสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
คนที่ 7 คือ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการอัยการชั้น 2 ขึ้นไป (พ้นจากอัยการผู้ช่วย) 3,537 คน ด้วยคะแนน 1,900 คะแนน
คนที่ 8 ไม่น่าจะผิดไปจาก นายประสาน หัตถกรรม อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการสมาคมข้าราชการฝ่ายอัยการ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิอัยการ ที่เป็นกรรมการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกและลงคะแนน ของอัยการ
และคนที่ 9 ไม่น่าจะผิดไปจาก นายกิตติ ไกรสิงห์ อดีตรองอธิบดีอัยการภาค 6 อดีตอัยการศาลสูงที่เป็นกรรมการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกและลงคะแนน ของอัยการทั้งหมด
มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ก.อ.ครั้งที่ 8/2563 ได้ถูกบันทึกๆไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทยว่า ข้อคิดเห็น ข้อเสนอของประธานคณะกรรมการอัยการ พ่ายแพ้ต่อมติของคณะกรรมการอัยการ ในส่วนที่เป็นฝ่ายบริหารแบบย่อยยับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ต้องไปตั้งคำถามว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการอัยการ 3 ข้อ ตามกฎหมาย
1.พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ
2.การพิจารณาดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการอัยการที่กระทำผิดระเบียบ
3.พิจารณาออกระเบียบบริหารงานบุคคลอัตรากำลังข้าราชการฝ่ายอัยการ....
จะออกมาทางไหน....
ฝ่ายบริหารย่อมมีชัย..ชโย!