วันนี้ (19 ก.ย.63) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงมาตรการในการดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนนี้
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ โดยยึดหลักกฎหมาย ให้ใช้ความอดทน อดกลั้น ซึ่งได้รับนโยบายโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นให้ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างละมุนละม่อม โดยให้ดูแลผู้ที่มาชุมนุมวันนี้ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา นอกจากจะยึดหลักกฎหมายแล้วจะต้องใช้หลักความละมุนละม่อม และการอดทนอดกลั้น โดยถือว่าจะต้องดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัยมากที่สุด จะไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างใด
“อาจมีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเป็นใย หรือมีการทำข่าวบิดเบือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเตรียมการที่จะใช้กำลัง จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นการดำเนินการแบบนั้น”
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผบ.ตร. ที่รับผิดชอบงานมั่นคง เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายของทางรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้
ในการดำเนินการรักษาความปลอดภัยในปัจจุบันได้ใช้แผนชุมนุม 63 ซึ่งเดิมใช้แผนที่ชื่อว่า กรกฎ 52 ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตในเรื่องของความแตกต่าง ว่าทำไมต้องมีการใช้แผนใหม่ขึ้นมา เป็นแผนที่จัดตั้งขึ้นมา หรือทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการดำเนินการกับการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่อย่างไร คำตอบคือไม่ใช่ แผนชุมนุมปี 63 เป็นแผนที่เป็นการปรับปรุงและนำข้อผิดพลาด รวมถึงการนำบทเรียนเก่าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และมติครม.ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เราได้ดำเนินการจัดทำแผนให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า โดยหลักการเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เรายังอยู่ในห้วงของการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าด้วยการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นความจำเป็นที่ในแผนก็มีการระบุเรื่องการประสานความร่วมมือกับหน่วยร่วมปฏิบัติต่างๆ สาระสำคัญในแผนชุมนุม 63 คือเรื่องการกำหนดบทบาทขั้นตอน อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การแจ้งการชุมนุม หลายๆ คนอาจมีความเข้าใจผิดว่าการชุมนุมประเภทใดต้องไปแจ้งขออนุญาตอย่างไร ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่แล้ว
“ถ้าการชุมนุมนั้นเจ้าหน้าที่พิจารณาดูแล้วเป็นการชุมนุมที่สุ่มเสี่ยงอาจจะละเมิดต่อการกระทำความผิดของกฎหมายในคำสั่ง หรือแผนนั้นก็จะมีแนวทางในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีความชัดเจน หรือเหมาะสมกับสถานการณ์ ยืนยันว่าการใช้แผนไม่ได้ออกแผนมาเพื่อใช้จัดการกับม็อบ การใช้คำว่าจัดการคงเป็นคำที่ไม่ถูกต้องนัก”
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บช.น. ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน คือ
1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพื้นที่โดยรอบ สนามหลวง ถนนราชดำเนินใน แยกสะพานผ่านพิภพ มี พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 เป็นผู้รับผิดชอบ
2.ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพ จนถึงแยก จปร. มี พล.ต.ต.สำเริง สวนทอง ผบก.น.1 เป็นผู้รับผิดชอบ
3.ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยก จปร. สะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปจนถึงถนนราชดำเนินนอก มี พล.ต.ต.อุทัย กวินเดชาธร ผบก.อคฝ. เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้จะมีการตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 จำนวน 4 จุด คือ จุดที่ 1-2 บริเวณประตูทางเข้า ม.ธรรมศาสตร์ จุดที่3 ประตูถนนท่าพระจันทร์ จุดที่ 4 ถนนพระอาทิตย์
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและจัดการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยจะใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่ไปกับหลักนิติศาสตร์ ไม่ใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตนได้ชี้แจงไปแล้วว่า มีประมาณ 1 หมื่นนาย เป็นตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร และปฏิบัติหน้าที่ด้านการสืบสวน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายผ่านมายัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ว่าจะให้การชุมนุมครั้งนี้ปลอดภัยที่สุด ไม่มีการแทรกแซงจากมือที่สาม และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการชุมนุมด้วย
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า หากมีการเดินเข้าไปในพื้นหวงห้าม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการประกาศเพื่อทำการประชาสัมพันธ์และใช้วิธีการชุมนุม 63 ยืนยันว่าไม่ใช่แผนจัดการกลุ่มชุมนุม แต่เป็นการนำข้อผิดพลาดและบทเรียนเก่าๆ รวมถึงข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงแผน
สำหรับความแตกต่างของแผนการชุมนุมกรกฎ 52 กับ การชุมนุมปี 63 มีวิวัฒนาการในเรื่องการชุมนุม ในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวข้องที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราชบัญญัติชุมนุม สาธารณะปี 2558 ประกอบกับมติ ครม. ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
นอกจากนี้แล้วเรายังได้ถอดบทเรียนที่เกี่ยวข้องออกมา ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น มีขั้นมีตอน ที่บอกไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตาม เพราะว่าในแผนกรกฎเดิม มันอาจจะมุ่งในเรื่องของการใช้กำลัง แต่ว่าในเรื่องของการใช้กำลังนั้นก็ยังมีอยู่ แต่จะเป็นการใช้กำลังตามความจำเป็น ตามสถานการณ์ไม่ใช้เรื่องที่จะเป็นกฎการใช้กำลังอย่างเดียว ทั้งนี้แผนของปี 63 มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีความรัดกุมมากขึ้นได้มาตรฐานสากลมากขึ้น และกฎเป็นไปตามกฎหมายที่มีการเปลี่ยนไป
เมื่อถามว่าการชุมนุมครั้งนี้แกนนำส่วนใหญ่เป็นคนที่มีหมายจับแทบทั้งนั้น ตำรวจจะดำเนินการอย่างไร พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมเดือนกรกฎาคม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตำรวจมีการออกหมายเรียก ออกหมายจับ ไปกว่า 30 หมาย จับกุมดำเนินคดีไปแล้วเกือบทั้งหมด สำหรับบางส่วนที่มีการกระทำผิด ตำรวจก็ยังรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งคนที่มีหมายจับอยู่แล้ว ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงฝากบอกผู้ชุมนุมว่าหากท่านไม่ไปกระทำความผิด ก็จะไม่ต้องรับหมายเรียก หรือถูกออกหมายจับในอนาคต
พ.ต.อ.กฤษณะ ยังได้กล่าวถึงกรณีจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมว่า ก็คงจะต้องดูประเมินสถานการณ์เป็นห้วงๆ ไป ประกอบสภาพอากาศในช่วงนี้ด้วยที่จะมีฝนตก ซึ่งเป็นไปตามตามพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ส่วนจำนวนที่จะมานั้นคงต้องดูจากระยะเวลา และสถานที่ที่เกิดขึ้นจริง จึงยังไม่สามารถตอบได้ แต่ในส่วนของตำรวจยังใช้กำลังกว่าหมื่นคน โดยจะเป็นตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในการรวบรวบพยานหลักฐาน สืบสวนหาข่าวกันภัยมาแทรกซ้อน พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่จราจรในการอำนวยความสะดวก
ทั้งนี้ไม่อยากให้ไปกังวลในส่วนของตัวเลขคนจะมา แต่อยากจะให้เป็นห่วงว่า ถ้าคนมาเยอะแต่ไม่กระทำการที่ผิดกฎหมายไม่มีอะไรแทรกซ้อน ดีกว่ามาจำนวนน้อยแล้วมีภัยแทรกซ้อนขึ้น จึงอยากจะขอฝากพี่น้องประชาชนที่จะมาหรือไม่มาให้คำนึงถึงตรงจุดนี้และช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วย
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมาโดยตลอดว่าในมาตรการต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะลงไปดูแลนั้น ได้ย้ำมาทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. ดูแลงานฝ่ายความมั่นคงว่า ให้ตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายไป เพราะถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ก็จะตกเป็นผู้กระทำความผิดเอง เนื่องจากว่าละเว้นการปฏิบัตหน้าที่ แต่นั่นคือหลักการ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นายกฯ ขอให้ตำรวจ อดทน อดกลั้น ยึดคติพจน์ของตำรวจให้มากที่สุด เพื่อดูแลประชาชนและนักศึกษาให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เชื่อว่าถ้าทำตามนี้ก็สามารถขับเคลื่อนผ่านไปได้ ดังนั้นอะไรที่จะทำแล้วเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย อะไรที่ทำแล้วสุดโต่งเกินไปก็ไม่ควร
ในส่วนของการขออนุญาตเข้าพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมการชุมนุมนั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ในส่วนของการชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องขอแจ้งการชุมนุม ตอนนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งการชุมนุม เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งทางพ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวเสริมว่า ในการชุมนุมในปัจจุบันต้องดูว่าจะชุมนุมที่ไหน ปัจจุบันมีการประกาศว่า จะชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งก็เป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในขณะนี้จนถึงปัจจุบัน ทราบว่าเจ้าของพื้นที่ยังไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมได้ นั่นคือเจ้าของพื้นที่ไม่ได้อนุญาต และเมื่อไม่อนุญาตแล้วในส่วนอื่นต้องขออนุญาตไหม
นอกเหนือจากพื้นที่ตรงนี้ คำตอบ ก็คือในการชุมนุมแล้ว ถ้าพื้นที่นั้นไม่ใช้พื้นที่หวงห้ามการชุมนุม ไม่ใช่การขออนุญาตแต่เป็นการแจ้งการชุมนุมกับตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ โดยผู้ที่จะจัดการชุมนุม จะต้องมาแจ้งต่อตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ว่าชุมนุมบริเวณใด วันไหน เวลาใด มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนเท่าใด ชุมนุมเพื่ออะไร เสร็จกี่โมง ซึ่งตำรวจก็จะแจ้งกลับไปแต่ไม่ใช่การอนุญาต แต่เป็นการแจ้งรับทราบว่าจะมีการชุมนุมและตอบกลับไปว่าผู้ที่จะจัดการชุมนุม ทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง ต้องระวังอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการพังประตู หรือตัดประตูเข้าไปจะมีความผิดอย่างไร พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ตรงนั้นต้องเป็นเรื่องของเจ้าของสถานที่ ในส่วนของความผิดการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้น ตำรวจถึงเน้นมาโดยตลอด ซึ่งตรงจุดนี้เชื่อว่าผู้ที่ชุมนุมหรือผู้ที่เป็นแกนนำน่าจะทราบอยู่แล้ว โดยคาดว่าในการชุมนุมคงมีฝ่ายกฎหมายคอยประเมินสถานการณ์ว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นความผิด อะไรที่ทำแล้วสุ่มเสี่ยงมากหรือน้อยก็อยากจะให้หลีกเลี่ยง และหากมีการกระทำสิ่งที่ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายในสถานที่ต่างๆ เจ้าของสถานที่จะว่าอย่างไร จะถือว่าเป็นการบุกรุกหรือไม่บุกรุกนั้นคงต้องดูตามสถานการณ์
ในส่วนใดที่เป็นเจ้าของสถานที่เป็นผู้เสียหายก็ต้องมาแจ้ง อะไรที่เป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องมาแจ้งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยเกี่ยวข้องก็เป็นผู้แจ้งต่อไป ส่วนจะบอกว่าพังตรงไหน หรือตัดตรงไหนจะเป็นความผิดอย่างไรก็คงต้องดูก่อนว่ามีการกระทำตรงจุดใด ยังคงตอบไม่ได้ว่า ตรงไหนผิดแน่นอน รอให้ถึงเวลา แล้วพอถึงตรงนั้น ถ้าเข้าไปในสถานที่ส่วนบุคคลต้องดูว่าส่วนบุคคลนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัวจะเป็นอย่างไร
ขณะที่มีรายงานว่า ขณะนี้ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการประชุมศูนย์ปฎิบัติการ ประจำวันตาม ตามวงรอบ ในห้วงเวลา 8.00 น. 14.00 น. และ 20.00 น. โดยในช่วงเช้า มี พลตำรวจโทพงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุม
ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาคอยดูแลความเรียบร้อย ได้แบ่งกำลังเป็น 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น., 18.00-02.00 น. และ 02.00-10.00 น.