ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 กันยายน 2563) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องเอาผิด คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และผู้ว่าการฯ รฟม. หลังจากที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.63 เห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น
มติดังกล่าว ส่อพิรุธหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคลียร์ไม่จบ! ศึกชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มเดือด
"กลุ่มธรรมาภิบาล"แฉอ้างชื่อ "บิ๊กฉ.-บิ๊กป." เรียกหัวคิวขุดลอกแหล่งน้ำหมื่นล้าน
สาวไส้ คนไทยจนลง "ข้าพื้นนุ่ม"ตีตลาด"ข้าวหอมมะลิ"
"กรมบัญชีกลาง"ซักซ้อมแนวทางจัดซื้อจัดจ้าง
โดยการคัดเลือกโดยการเปิดซองข้อเสนอทางเทคนิคร่วมกับข้อเสนอทางการเงิน จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่
เพราะจะเป็นการให้น้ำหนักในการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิมที่ใช้วิธีการเปิดทีละซอง ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้ ทำให้มีข่าวเล็ดลอดออกมาในลักษณะมีการวิ่งเต้นให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเพื่อกีดกันเอกชนบางราย ซึ่งอาจเข้าข่ายการฮั้วประมูลได้
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค.63 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม ม.6(3) และ ม.32 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน 2563 อีกด้วย
ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การคัดเลือกตั้งประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯเท่านั้น เพราะข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การพิจารณาจะพิจารณาทีละซองข้อเสนอเป็นลำดับไป โดยไม่ได้กำหนดให้นำคะแนนของซองข้อเสนอด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณากับคะแนนของซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนเพื่อหาผู้ชนะการประเมินแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังเข้าข่ายผิดต่อ ม.11 และ ม.12 แห่ง พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 อีกด้วย
ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยนแปลง TOR หลังจากมีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น น่าจะเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเข้าข่ายความผิดหลายประการที่ส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ สมาคมฯจึงจำต้องนำความมาร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อสอบสวนเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งผู้ว่าการฯ รฟม.ด้วย นายศรีสุวรรณ กล่าว