สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานข่าว การชุมนุมในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยอ้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยว่า สัปดาห์นี้อาจเป็นห้วงเวลาที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม คณะราษฎร ที่ออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกและยุบสภา รวมทั้งยุติการคุกคามกลุ่มผู้เห็นต่าง และให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ
สื่อใหญ่ดังกล่าว ระบุว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นการแสดงออกซึ่งการต่อต้านสถาบันฯอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย แม้ว่าพวกเขาอาจจะต้องพบกับบทลงโทษจำคุกหลายปีก็ตาม แกนนำรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า พวกเขาต้องการที่จะแสดงออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันได้อย่างเสรี ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี ที่รายงานข่าวการชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ รายงานว่า ผู้ชุมนุมร้องตะโกนคำขวัญเรียกร้องการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงในขณะที่เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ ซึ่งมีการติดตั้งสิ่งกีดขวางทั้งแท่งคอนกรีตและลวดหนาม โดยพวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะ
“ มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม และตำรวจได้ยกระดับการระวังภัยขึ้นเป็นขั้นสูงสุด ทว่าความชุลมุนที่เกิดขึ้นมีเพียงการที่ผู้ประท้วงได้โยนกระถางดอกไม้ที่ตั้งอยู่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ต่างยับยั้งชั่งใจ และผู้ประท้วงเองก็สามารถเคลื่อนขบวนไปข้างหน้าได้” รายงานของบีบีซีซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวตำรวจระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่
ซัด “ธนาธร-ปิยบุตร” หยุดทำร้ายปท.-สถาบันฯ
นายกฯ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ในพื้นที่กทม.
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าตรู่วันนี้ ( 04.00 น. วันที่ 15 ต.ค.) บีบีซีระบุว่า เป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีการชุมนุมได้อีก เนื่องจากมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนแม้ว่าในภาพรวมของการชุมนุมเมื่อวานนี้จะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม นอกจากนี้ เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมกลุ่มผู้เคลื่อนไหวหลายคนที่รวมถึงแกนนำการชุมนุม 3 คน คือทนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) และนางสาว ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) สื่อใหญ่ของอังกฤษระบุว่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่กระทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือจะกล่าวว่ากระทำในสิ่งต้องห้ามก็ว่าได้ นั่นคือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันและเรียกร้องการปฏิรูป
แต่ทั้งนี้ เหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกทม. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าเป็นเพราะมีกลุ่มบุคคลที่พยายามเชิญชวนปลุกระดมและดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน อีกทั้งมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่รุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งหลังจากการประกาศดังกล่าว ทางตำรวจก็เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลโดยทันที
สื่ออังกฤษระบุว่า หลังจากนี้นั่นหมายถึงการชุมนุมจะถูกจำกัด การนำเสนอข่าวของสื่อก็จะถูกคุมเข้มห้ามนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัว บิดเบือน หรือสร้างความเข้าใจผิดที่จะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยและกระทบความมั่นคง
ขณะที่สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งโดยภาพรวมมีความสงบเรียบร้อยแม้บางช่วงจังหวะจะมีการปะทะเล็กน้อย เพราะนอกจากกลุ่มของผู้ชุมนุมในนาม “คณะราษฎร” แล้ว เมื่อวานนี้ยังมีผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีแนวความคิดตรงข้ามกันมาอยู่ในพื้นที่ด้วย เช่น กลุ่มพุทธะอิสระและกลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ ทั้งนี้ อัลจาซีราระบุการให้สัมภาษณ์ของอดีตพระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ว่า ผู้ชุมนุม (ฝ่ายคณะราษฎร) จะเรียกร้องประชาธิปไตยก็สามารถทำได้ แต่จะต้องไม่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ "พวกเขาต้องไม่แตะต้องสถาบันนี้" นายสุวิทย์ กล่าว
อัลจาซีราชี้ว่า ความเคลื่อนไหวในลักษณะท้าทายสถาบันฯเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นจึงเกิดกระแสต่อต้านย้อนกลับจากอีกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง
ข้อมูลอ้างอิง
Thailand's unprecedented revolt pits the people against the King
Thai protests: Large gatherings banned under emergency decree
Clashes at Thailand anti-government protests in Bangkok