เปิดประวัติ "เอกชัย - บุญเกื้อหนุน"  ถูกคดีมาตรา 110 

15 ต.ค. 2563 | 20:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2563 | 09:00 น.

รายงานพิเศษ : เปิดประวัติ "เอกชัย หงส์กังวาน- บุญเกื้อหนุน เป้าทอง" ถูกคดีมาตรา 110 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีรายงานว่า ศาลอาญา อนุมัติตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ให้ออกหมายจับ นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง ตามหมายจับที่ 1595/2563 และ 1596/2563 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในข้อหากฏหมายอาญา มาตรา 110

 

นักกิจกรรมการเมืองทั้ง 2  ราย เป็นใครมาจากไหน ?

 

ประวัติ"เอกชัย หงส์กังวาน" มีชื่อเล่นว่า "เอก" ปัจจุบันอายุ 45 ปี  พื้นเพเป็นคนกรุงเทพตั้งแต่เกิด ช่วงเด็กบ้านอยู่เขตดินแดง พออายุ 8 ขวบ ครอบครัวย้ายบ้านมาอยู่ภายในซอยลาดพร้าว 109 ถึงปัจจุบัน  โดยมีคุณพ่อประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง มีน้องสาวหนึ่งคน แต่หลังพ่อเสียก็ออกจากบ้านมาพักอาศัยอยู่คนเดียวในตึกแถวหลังหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากบ้านของครอบครัว   

 

เอกชัย เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ช่วงวัยเด็กเขาไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง เพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนเงียบๆ และเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด หลังจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมาก ก็ไม่ได้สานต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแต่กลับชอบเรื่องการค้าจึงลองทำธุรกิจหลายอย่าง จนปี พ.ศ.2546 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้นำสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือ หวยบนดิน เขาจึงมานั่งขายตรงปากซอยลาดพร้าว 109   และรู้สึกชอบมากเพราะเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินได้งดงามและไม่เหนื่อย

 

จุดหักเหที่ทำให้เขาสนใจการเมือง เกิดขึ้นช่วงปี 2549 หลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหาร ก่อนเปิดทางให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  พล.อ.สุรยุทธ์ ได้สั่งยกเลิกหวยบนดิน ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้เขาในขณะนั้น  และนั่นทำให้เขาผู้ไม่เคยสนเรื่องการเมืองต้องออกมาร่วมชุมนุม โดยได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ค้าหวยบนดิน ที่หน้ากองสลากฯ ถนนราชดำเนิน จากนั้นจึงรู้สึกชอบการเมืองมากขึ้น  โดยในช่วงแรกเน้นเป็นผู้ร่วมฟังมากกว่า

 

เขาเคยถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 กรณีจำหน่ายซีดีสารคดีการเมืองไทยที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ของประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ จนถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เมื่อพ้นโทษออกมาช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 ก็ได้รวมตัวกับเพื่อนตั้งสมาคมเพื่อเพื่อน ในการช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

 

หลังพ้นโทษเขาเริ่มเคลื่อนไหวจริงจังช่วงหมุดคณะราษฎรหาย กิจกรรมต่อมาคือการเคลื่อนไหวหวังยื่นฎีกาขอให้ปลด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่สำเร็จ  ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อ "เอกชัย " เป็นที่รู้จักมากขึ้น  ก็คือการออกมาเคลื่อนไหวประเด็นนาฬิกาเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร  โดยการเคลื่อนไหวของเขามักใช้มุกอิงกระแสสังคมเพื่อดึงความสนใจจากสังคม   เช่น มอบนาฬิกาส่วนตัวมูลค่า 3-4 พันบาทให้ พล.อ.ประวิตร จุดธูป 36 ดอก สีซอเพลงบุพเพสันนิวาส หรือแม้แต่ส่งการ์ดเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ไปร่วมกิจกรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอนุมัติหมายจับ "2 นักกิจกรรมการเมือง" ข้อหาประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี

เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่

ขบวนเสด็จ 'ราชินี-พระองค์ที' ผ่านผู้ชุมนุมถนนพิษณุโลก

นายกฯฮึ่ม "ม็อบ14ตุลา" สั่งตร.ดำเนินคดีผู้ขวางขบวนเสด็จฯ-หมิ่นสถาบันฯ

 

เอกชัย เล่าว่า  หลักในการเคลื่อนไหวทางกิจกรรม เขาจะเน้นทำคนเดียว ไม่เน้นปลุกม็อบ เพราะหากระดมคนออกมาอาจเข้าข่ายกระทำความผิดและถูกดำเนินคดีได้ง่าย จึงต้องพยายามเลี่ยงกฎหมายเพื่อไม่ให้ถูกจับ

 

 

ส่วน "บุญเกื้อหนุน เป้าทอง"   หรือ “ฟรานซิส” นักศึกษารัฐศาสตร์ คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปี 2  หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล  ถือเป็นนักกิจกรรมการเมืองหน้าใหม่ โดยเริ่มจากการเป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบปลุกนักศึกษามหิดล ให้ลุกขึ้นมาแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ  

 

บทบาทของ"บุญเกื้อหนุน" ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่  จนเจ้าตัวต้องโพสต์ผ่านเฟซบุกส่วนตัวในขณะนั้้นระบุว่า มีเจ้าหน้าที่สันติบาลกลุ่มหนึ่งเดินทางไปที่บ้านของตนเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง  โดยพุ่งเป้ามายังแกนนำนักศึกษา 12 คน

 

อนึ่ง "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 " ระบุความผิดและบทลงโทษดังนี้  

 

ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี

วรรคสอง ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน 


วรรคสาม ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต 

 

วรรคสี่ ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 12-20 ปี