กรณี "กลุ่มคนรักษ์ระยอง" ได้ออกแถลงการณ์กรณีมีบุคคลที่ใช้ชื่อ "ไมค์ ระยอง" ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งในบางครั้งใช้คำพูดคำจาที่ไม่เหมาะสมจาบจ้วง ล่วงเกินบุคคลทั้งที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่สร้างคุณประโยชน์ สร้างความสงบสุขให้กับพี่น้องปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
แต่นาย "ไมค์ ระยอง" เป็นใครมาจากไหน ไม่มีใครทราบ อยู่ๆจะมาใช้คำต่อท้าย "ระยอง" มาสร้างความเสียหาย ให้กับพี่น้องชาวระยองที่รักสงบ ไม่เคยมีปัญหากับการเมืองทุกยุค ทุกสมัย
หากย้อนกลับไปในอดีตชาวระยองมีนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่ได้รับฉายาว่า นักรบของประชาชนนั่นคือ “สุทธิ อัชฌาศัย” หนุ่มลูกชาวสวนเมืองระยอง “นักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม” หัวหอกสำคัญของ “เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก” ที่รวมตัวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548
“สุทธิ" มีภูมิลำเนาอยู่ ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง ที่บ้านทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ จบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนระยองวิทยาคม แล้วเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ระดับมัธยมปลาย ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ
ต่อมา "สุทธิ" เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นนักกิจกรรมในนาม "ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ม.รามคำแหง" นอกจากนั้น เขายังเคยทำกิจกรรมร่วมกับ สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2538
หลังจากเรียนจบรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง "สุทธิ" ทำงานให้สมาคมร่วมกันสร้าง เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนที่อยู่สลัมในกรุงเทพฯ แล้วก็ไปทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ของสุวิทย์ วัดหนู และในที่สุดได้เป็นผู้ประสานงานกับทีมสมัชชาคนจน
นักสู้ภาคประชาชนที่เป็นต้นแบบของ "สุทธิ" มีอยู่ 2 คนคือ "มด" วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งสมัชชาคนจน และอีกคนหนึ่งคือ สุวิทย์ วัดหนู สองผู้นำมวลชนที่ล่วงลับไปแล้ว
หลังจากทำงานได้สักระยะหนึ่ง "สุทธิ" ก็กลับบ้านเกิด จ.ระยอง ไปดูแลแม่ และทำสวน เขาจึงเลือกที่จะทำงานประจำที่ อบต.แถวบ้าน ทำได้สักพักก็ลาออก เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ จึงหันกลับมาเป็นเอ็นจีโออีกครั้ง โดยเป็นผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ของมูลนิธิชุมชนไท ปี 2542
ปี 2548 เกิดวิกฤติน้ำอย่างรุนแรง ในภาคตะวันออกมีน้ำไม่พอใช้ จึงเป็นเหตุของการรวมกลุ่มของเกษตรกร และชาวชุมชนเมืองที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภค
ต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ก็คือรัฐบาลทักษิณ มีนโยบายผันน้ำให้กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ "สุทธิ" จึงลุกขึ้นมานำชาวบ้านต่อสู้เป็นครั้งแรก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ดึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสถาปนาขึ้นมาเป็น "เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก" เรียกร้องกับรัฐบาลทักษิณเพื่อให้จัดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรมแล้วก็เท่าเทียมกันในทุกภาคส่วน
ระหว่างที่เรียกร้องเรื่องการบริหารจัดการน้ำอยู่นั้น ก็เกิด "ปรากฏการณ์สนธิ" ในช่วงปลายปี 2548 "สุทธิ" ก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตร ภาคตะวันออก
จากกรณีปัญหาน้ำ "สุทธิ" ก็เปิดประเด็น "มลพิษอุตสาหกรรม" ที่มาบตาพุด อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงชักชวนชาวบ้านที่มาบตาพุดมาเรียกร้องให้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์
ต่อสู้กันมา 1 ปี ทางรัฐบาลขิงแก่ก็ไม่ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ "สุทธิ" เลยตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้ประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2545 ท้ายที่สุดก็ชนะคดี ศาลประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เครื่องมือที่สุทธิใช้ต่อสู้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่าเรื่องสิทธิชุมชน โดยเฉพาะการปกป้องสิทธิพลเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 67 วรรคสอง จะเป็นการคุ้มครอง หรือเป็นการวางเกราะป้องกันไม่ให้ปัญหาการพัฒนาไปเหลื่อมล้ำภาคส่วนต่างๆ
ปี 2552 "สุทธิ" ตัดสินใจเข้าร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ และได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหาร ด้วยหวังที่จะทำให้เป็น "พรรคมวลชน" ไม่ใช่แค่ให้ชนะเลือกตั้งแล้วเข้าไปนั่งเป็น ส.ส.ในสภา แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งภายในพรรค เขาก็ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
จากนั้น "สุทธิ" ได้หันมาดูแลครอบครัวมากขึ้น และเปิดร้านอาหารชื่อวันวาน(นี้) ที่บริเวณริมถนนสายระยอง-บ้านแลง ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องปิดตัวไป
จากความล้มเหลวในการทำร้านอาหาร ได้ก่อให้เกิดหนี้สินหลักล้าน ประกอบกับในการเคลื่อนไหวมวลชน นับตั้งแต่ปี 2548 "สุทธิ" ต้องกู้หนี้ยืมสิน เอาที่ดินไปจำนอง เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการเคลื่อนไหวทุกครั้ง การเดินทางพามวลชนไปแต่ละครั้ง ไม่เคยมีทุนรอน ไม่มีใครรับผิดชอบ นอกจากตัวเขาเอง จนต้องเป็นหนี้มากมาย
แล้วสิ่งที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สุทธิได้ขับรถกระบะเข้ามาจอดในโรงรถข้างบ้าน ซึ่งมารดาทำกับข้าวอยู่ในครัว เขาได้เข้ามาถามมารดาว่า วันนี้ทำอะไรกิน หลังจากถามแล้วก็เดินออกจากครัว จากนั้นไม่นานมีเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด มารดาวิ่งออกจากครัวมาพบลูกชายเสียชีวิตอยู่กับพวงมาลัยรถ
ขณะที่อีกหนึ่งบุคคลที่ชาวระยองและตอนนี้หลายคนทั่วประเทศรู้จักเขาก็คือ "ไมค์ ระยอง "
สำหรับไมค์ ระยอง ตกเป็นข่าวครึกโครม เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเขาได้ชูป้ายประท้วงโครงการถมทะเล 1,000 ไร่ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า "ไมค์ "นั้นมีหมายจับตั้งแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และก่อนหน้านั้นไมค์ ก็ได้ขึ้นเวที เยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งก็มีหมายจับและถูกจับกุมหลายข้อหา
อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการประกันตัวออกมา หลังจากนั้นก็ได้เห็นไมค์ ขึ้นเวทีปราศรัยอีกหลายเวทีในนามของแกนนำม็อบคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย -ทำเนียบรัฐบาล ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ชุมนุมที่แยกปทุมวัน
ล่าสุดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนั้น ตำรวจได้เข้าจับกุม ไมค์ ระยอง เพื่อดำเนินคดี ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันหรือการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
สำหรับไมค์ ระยอง หรือ นายภานุพงศ์ จาดนอก ปัจจุบันอายุ 24 ปี เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในนามของนักเคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นประธานกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย เคยทำงานจิตอาสาในนาม กลุ่มเยาวชน Youngleaders Thailand ที่ระดมวัยรุ่นมาทำงานช่วยเหลือคนยากคนจน โดยลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหายากจนจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้กับคนใน อ.บ้านฉาง
ไม่เพียงเท่านั้น ไมค์ ยังถือเป็นบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจาก คณะก้าวหน้า ระยอง และสาขาพรรคก้าวไกล ระยอง
โดยไมค์ ได้เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ทุกครั้งที่ผมทำกิจกรรมอะไรก็ตาม จะมีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง ที่เห็นด้วยและสนับสนุนการทำกิจกรรมของผมอยู่ตลอดเวลา ขอขอบคุณพี่ๆ คณะก้าวหน้าระยอง...”
สำหรับเส้นทางของไมค์ ระยองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : คมชัดลึก 'สุทธิ อัชฌาศัย'นักสู้เพื่อสิทธิชุมชนแห่งมาบตาพุด