วันที่ 19 ตุลาคม 2563 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 6 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล โดยเนื้อหาระบุว่า
แถลงการณ์ร่วม เรื่อง การตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในการสถานการณ์การชุมนุมที่มีความละเอียดอ่อน
ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ ของสื่อมวลชน อันประกอบด้วย วอยซ์ทีวี และหรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV ประชาไทดอทคอม The Reporters และ The Standard ตามความทราบแล้วนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 19 ตุลาคม 2563
กอร.ฉ.สั่ง กสทช.- ดีอีเอส ตรวจสอบ-ระงับการออกอากาศ 5 สื่อ
แห่ติดแท็ก #saveสื่อเสรี หลังดีอีเอส สั่งสอบ ระงับ ลบข้อมูล 5 สื่อดัง
ตำรวจเคลียร์ชัดยังไม่สั่งปิด 5 สื่อ
สั่งทุกค่ายมือถือ-อินเตอร์เน็ต ระงับการใช้ "แอปพลิเคชัน
6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า
การที่อ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสื่อมวลชน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน จึงขอยืนยันจุดยืนดังต่อไปนี้
1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันจุดยืนคัดค้านการปิดกั้นหรือคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด
2. การตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ระบุว่า “... การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้...”
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ก็เพียงการห้ามเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน เฉพาะในประเด็นที่ละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้งเท่านั้น แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่เกินกว่าเหตุ
3. การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการอาศัยความเป็นสื่อมวลชนบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา
สุดท้ายนี้ การแสดงจุดยืนของทั้ง 6 องค์กรสื่อ เป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
19 ตุลาคม 2563
ที่มา แถลงการณ์ร่วม เรื่อง การตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในการสถานการณ์การชุมนุมที่มีความละเอียดอ่อน