ยื่นกว่า 1,100 ชื่อ เรียกร้องนายกฯไม่ใช้ความรุนแรง

20 ต.ค. 2563 | 04:09 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2563 | 11:43 น.

“อนุสรณ์” นำทัพอาจารย์-นศ เดินเท้าจากธรรมศาสตร์ถึงทำเนียบ เรียกร้องนายกฯไม่ใช้ความรุนแรง     

20 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษาประมาณ 50 คน ได้รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าประจันทร์ และเดินเท้ามาถึงทำเนียบรัฐบาลเวลา 09.00น. เพื่อยื่นแถลงการณ์ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม โดยนายอนุสรณ์ ได้อ่านแถลงการณ์บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาลมีเนื้อหาสรุปว่า

 

เราขอประณามการใช้กำลังสยายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่แยกปทุมวันที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องหยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขจัดผู้เห็นต่าง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายในพื้นที่กทม.

 

รวมทั้งต้องยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาและปล่อยผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข และรัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจังเช่น นายกฯต้องลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอันเป็นสากล โดยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะโดยประกอบด้วยภาควิชาการประชาชนและนิสิตนักศึกษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

800 นักวิชาการ "เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง"ยื่นแถลงการณ์ถึงนายกฯ

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 20 ตุลาคม 2563

หวั่นตำรวจอายัดตัว "รุ้ง-เพนกวิน" ดำเนินคดีต่อ

ถอดรหัสลับภาษาม็อบคณะราษฎร 2563 

 

นายอนุสรณ์กล่าวด้วยว่า ในแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายชื่ออาจารณ์มหาวิทยาลัยต่างๆร่วมลงชื่อแนวท้ายจำนวน1,118 คน และทราบว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งอยากร่วมลงชื่อแต่มีการสั่งห้ามไว้  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลักการอ่านแถลงการณ์ นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง และ นายธีรภัทร ประยูรศรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับแถลงการณ์ดังกล่าว

 

สำหรับแถลงการณ์ เรื่อง "หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศไทย" มีรายชื่อนักวิชาการแนบท้ายขณะนี้จำนวน 1,118 ชื่อ โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

 

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่อง หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สบร้างทางออกให้ประเทศไทยการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านที่ซับซ้อนและโยงใยกันอย่างแน่นหนา จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขในระดับรากฐาน และกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เสนอแนวทางแก้ไขมาโดยลำดับ บนฐานของข้อเท็จจริง หลักการ และเหตุผล โดยมีผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง

 

อีกทั้งยังเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ทว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ไม่รับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณา หากแต่ยังขัดขวางในลักษณะต่างๆ ทั้งการตั้งข้อหาและจับกุมคุมขังแกนนำและผู้เข้าร่วม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสถานการณ์บานปลาย ไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ เพราะว่า ปัญหาที่ประเทศไทยประสบเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม กลุ่มคนที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นชาติสกุล เชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ อาชีพ เพศ ภูมิลำเนา ฯลฯ ไม่ได้รับการจัดสรรประโยชน์ สิทธิ และอำนาจกันอย่างเท่าเทียม จะแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงออกและต่อรองกันอย่างเสมอหน้า ไม่ใช่โดยการปกปิดหรือบิดเบือนผ่านการหว่านล้อมกล่อมเกลา หรือโดยการใช้กำลังเข้ากดปราบหากไม่สยบยอม ดังที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เห็นต่างตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา

 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมกับนักวิชาการ และประชาชนที่มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 1,118 รายชื่อ จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

 

1.ขอประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนบริเวณแยกปทุมวันคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เพราะเป็นการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล และเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้มีพฤติการณ์รุนแรง และจำนวนมากเป็นเยาวชน รัฐบาลจะต้องยุติการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้

 

2.รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข เพราะผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงสัตยาบัน ต้องยกเลิกการใช้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาผิดผู้แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไม่สมควรแก่เหตุ

 

3.รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งการให้นายกรัฐมนตรีลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในภาควิชาการ ประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพราะปราศจากการเขียนกติกาสูงสุดที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และปราศจากการจัดระเบียบอำนาจและประโยชน์ในสังคมที่เป็นธรรมกับทุกคน โอกาสที่ประเทศไทยจะพ้นจากวิกฤติที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานได้นั้นแทบจะไม่มี