เข้าสู่โหมดการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” นับแต่นี้ไป เมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา มีมติรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับ 2 ร่างดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ ได้รับความเห็นชอบในวาระ 1 ด้วยคะแนน 576 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 123 และ 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ได้รับความเห็นชอบในวาระรับ 1 ด้วยคะแนน 647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55
ทั้ง 2 ร่างดังกล่าวได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไป และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น มีคะแนนเสียงของ ส.ว.เกิน 1 ใน 3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบ
ส่วนที่ถูก “ตีตก” เพราะมีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา มี 5 ฉบับคือ 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ตัดอำนาจ ส.ว.พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่ง คสช. 4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยทั้ง 4 ฉบับนี้เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ 7. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ประชาชน จำนวน 98,041 คน เข้าชื่อร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เสนอ
โดยรัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน แยกเป็น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรค เสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน กรอบเวลา 45 วัน กำหนดการแปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นร่างหลักในวาระ 2 กำหนดประชุมนัดแรกวันที่ 24 พ.ย.นี้
ฝ่ายค้านรื้อระบบเลือกตั้ง
สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภารับหลักการ ฉบับแรก เป็นของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่ขอแก้มาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
หัวใจสำคัญที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยเสนอ ก็คือ ปิดทางไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และขอรื้อระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ คือ เลือกทั้งส.ส.เขต และเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ)
นอกจากนั้น ต้องการแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือ การยกเลิก ส.ว. ตามมาตรา 269 การยกเลิกหน้าที่ และอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 และเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาแทบทุกหมวด รวมทั้งบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 279 มาตรา หลายปัญหาโยงใยในหลายหมวด
กระนั้นก็ตาม พรรคเพื่อไทย ระบุชัดเจนว่า จะไม่แก้ไขในหมวด 1 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งหมวด 2 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์
สำหรับระยะเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ส.ส.ร.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
ดึงนศ.ร่วมเป็นส.ส.ร.
ส่วนร่างที่ 2 ที่รัฐสภารับหลักการ เป็นร่างของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เสนอแก้มาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามสัดส่วนจังหวัด 150 คน และมาจากการเลือกทางอ้อม 50 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.ที่รัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีฯ เลือก 10 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ และอีก 10 คนจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งมีการเลือกนิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คน ร่วมด้วย
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ส.ส.ร.นั้น จะต้องมีอายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี บริบูรณ์ และจะต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าผู้สมัคร ส.ส. ยกเว้นสามารถถือครองหุ้นสื่อมวลชนได้ พ้นโทษจำคุกไม่ถึง 10 ปี หรือพ้นตำแหน่ง ส.ว.มาไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถเข้ารับการเลือกตั้งได้ และไม่ห้ามผู้สมัครที่เคยลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. มาสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้
ขณะที่ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก โดยการสิ้นอายุของสภาผู้แทน ราษฎร ไม่ผูกพันกับสถานะ ส.ส.ร. ซึ่งการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถกระทำได้ มิเช่นนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างจะเป็นอันตกไป
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,629 หน้า 12 วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2563