“สรรเพชญ”ชี้พิษภาษีสหรัฐกระทบไทยทั้งระบบ แรงงานหลีกเลี่ยงยาก

04 เม.ย. 2568 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2568 | 09:13 น.

“สรรเพชญ”ชี้วิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามภาษีสหรัฐ กระทบไทยทั้งระบบ ภาคแรงงานหลีกเลี่ยงยาก แนะรัฐบาลเร่งเจรจา-ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ก่อนประเทศพัง

วันนี้ (4 เม.ย. 68) นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา ได้แสดงความวิตกกังวลต่อมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37% โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกลับมาสู่เวทีการเมืองด้วยแนวทาง “America First 2.0” ที่เน้นกีดกันทางการค้า และลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า ซึ่งส่งผลให้ตลาดส่งออกของไทยเข้าสู่ความไม่แน่นอนอย่างหนักอีกครั้ง รวมถึงกระทบต่อภาคแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

“นี่ไม่ใช่แค่ภาษี แต่คือ สงครามการค้ารอบใหม่ที่กำลังทำลายห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยกลับไม่แสดงท่าทีเชิงรุกใด ๆ นอกจากการแถลงการณ์ของนายกฯ ว่ามีคณะทำงานแล้วแต่ยังไม่มีอะไรออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน” 

นายสรรเพชญ ชี้ว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบมีทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าประมง ยางพารา ผลไม้แปรรูป อาหารกระป๋องและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นจำนวนมาก โดยสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย คิดเป็นประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP ประเทศไทย หากตลาดนี้สะดุด ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ

นายสรรเพชญ ได้เสนอแนวนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการโดยทันที เพื่อป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังนี้

 

1.เร่งเจรจาทางการค้าเชิงรุกกับสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม “วันนี้หลายประเทศเริ่มเปิดโต๊ะเจรจากับสหรัฐแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน เราไม่สามารถรอให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ได้”

นายสรรเพชญ แนะให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ใช้ทุกกลไกของ “การทูตเศรษฐกิจ” รวมถึงการประสานงานผ่านสถานทูตไทยในวอชิงตัน เพื่อเปิดเจรจาโดยตรง พร้อมกับเสนอแนวทางแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น การเปิดรับสินค้าจำเป็นจากสหรัฐฯ อย่างเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความร่วมมือ 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ ที่ยังคงจ้างแรงงานครบจำนวน หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และการประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขยายเวลาชำระหนี้และให้พักหนี้ระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

2.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ - ลดการพึ่งตลาดเดิม สร้างความมั่นคงใหม่ “เราอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบางเกินไป พึ่งการส่งออกอย่างเดียว สหรัฐ มีอาการไอ เศรษฐกิจไทยก็สะอึกตามทันที รัฐบาลต้องเร่งกระจายความเสี่ยงและส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข็งแรง”

นายสรรเพชญ เสนอให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ด้วยการเร่งกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมถึงเร่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศผ่านนโยบายส่งเสริม SME และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และเทคโนโลยีอาหาร

นายสรรเพชญ เตือนว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการแจกเงินแบบไร้ทิศทางโดยไม่เร่งสร้างฐานเศรษฐกิจระยะยาว ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะหนักขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยใกล้แตะเพดานวินัยการคลัง ซึ่งทำให้ไม่มีพื้นที่เหลือพอสำหรับการเยียวยาในอนาคตอีกต่อไป