ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยและแถลงด้วยวาจา กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้บ้านพักรับรองของกองทัพบก “บ้านพักทหาร” โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” สิ้นสุดลงหรือไม่ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ เวลา 15.00 น.
เรื่องนี้พรรคเพื่อไทย นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ กับคณะ เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมารตรา 186 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เนื่องจากยังอยู่บ้านพักทหารทั้งที่ไม่มีสิทธิ์การพักอาศัย เพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์
ส่วนคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับ "9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งประกอบไปด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 1 มีนาคม 2495 จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราม คำแหง (กฎหมายมหาชน) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ประสบการณ์ อดีตอัยการจังหวัดสกลนคร, อัยการจังหวัดอุดรธานี และอัยการพิเศษฝ่ายแผนงานฝึกอบรม, ตุลาการศาลปกครองกลาง, รองอธิบดีศาลปกครอง เชียงใหม่, อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) 2 และอาจารย์พิเศษ ม.นเรศวร และ ม.รามคำแหง
ก่อนหน้าที่ นายวรวิทย์ จะได้รับเลือกให้นั่งเป็น ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุด ได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมงานกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้านี้วินิจฉัยให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แบบเป็นเอกฉันท์ กรณีที่เสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค และเป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมากที่มีมติให้ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ นายนุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น) นายจรัญ ภักดีธนากุล นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายปัญญา อุดชาชน และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 15 มิถุนายน 2496 จบนิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 ม.ธรรมศาสตร์ และนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา ม.ธรรมศาสตร์ และ Master of Law, University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ประสบการณ์ เป็นรองอธิบดีฝ่ายบริหารทั่วไปม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต,กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ,กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ม.ธรรมศาสตร์ (ระหว่างปี 2518-2556) นายทวีเกียรติ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่มีมติ ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาทจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคในขณะนั้น)
3.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 28 กรกฎาคม 2501 จบรัฐศาสตรบัณฑิต การเมืองการปกครอง ม.ธรรม ศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, PH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น
ประสบการณ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.ธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์, รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายนครินทร์ เป็นตุลาการเสียงข้างมากที่ มีมติเสียงข้างมากให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดสภาพความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"บิ๊กตู่" มั่นใจทำดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองไม่กังวลคดี "บ้านพักทหาร"
4.นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 15 เมษายน 2499 จบ ศิลปศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง, นิติศาสตรบัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายมหาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, M.A. (Public Administration), Michigan สหรัฐอเมริกา, Ph.D. (Public Administration), California สหรัฐอเมริกา, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต กฎหมายมหาชน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
ประสบการณ์ ปลัดอำเภอ กรมการปกครอง ก.มหาดไทย, เลขานุการผู้ว่าฯสกลนคร, เลขานุการผู้ว่าฯ ราชบุรี, นักวิชาการปกครอง กรมการปกครอง, หัวหน้างานอัตรากำลังและบรรจุแต่งตั้ง กรมการปกครอง, ผู้ช่วยหน.ภาควิชาพฤติกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการปกครอง, ผช.ผอ.โรงเรียนนักปกครองระดับสูง วิทยาลัยการปกครอง, หน.กลุ่มงานวิจัยและวิชาการ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ, หัวน้ากลุ่มงานคดี สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ, รองเลขาธิการ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ (ฝ่ายคดีและฝ่ายบริหาร) และเลขาธิการสนง.ศาลรัฐธรรมนูญ
5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 22 พฤศจิกายน 2497 เริ่มรับราชการในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญ, ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพิษณุโลก, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครสวรรค์, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุทัยธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชร, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5
ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3, รองประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา
6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2494 เริ่มรับราชการในตำแหน่งอัยการ ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
เคยเป็นองค์คณะที่ร่วมพิพากษา คดีโครงการจำนำข้าว และคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
7.นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 14 กุมภาพันธ์ 2496 เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง, เลขานุการศาลฎีกา, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 2, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
มีความเชี่ยวชาญข้อกฎหมาย โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ในปี 2560 เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
8.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 3 ธันวาคม 2499 เริ่มทำงานในตำแหน่งบริหารระดับสูงครั้งแรก โดยเป็นอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกและแอฟริกา แล้วออกไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (กรุงไคโร) จนถึงปี 2553 เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำนิวซีแลนด์ (กรุงเวลลิงตัน) แล้วเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์)
9.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิด 14 สิงหาคม 2495 จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.เชียงใหม่ ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหง
เคยดำรงตำแหน่งแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัด และผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงาน ก่อนมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นเมื่อปี 2544 จากนั้นดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ปี 2552 และดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปี 2555 กระทั่งรับดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ปี 2561
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ