นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ณ 30 กันยายน 2563 หรือวันสิ้นปีงบประมาณ 2563 ดังนี้
- สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ร้อยละ 49.34
-สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ร้อยละ 25.38
-สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ร้อยละ 1.78
- สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ร้อยละ 0.01
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.86 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เป็นหนี้เงินกู้ที่เป็นภาระตามกฎหมาย สัญญา มติคณะรัฐมนตรี หรือข้อตกลงที่รัฐบาลต้องชำระคืนเมื่อถึงกำหนด
ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน ขณะที่ 1,580,925.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.14 ของหนี้สาธารณะทั้งหมดเป็นหนี้ของหน่วยงาน ซึ่งจะไม่เป็นภาระ ต่องบประมาณ ทั้งนี้ แผนการกู้เงินและการชำระหนี้ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะ 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.34 ของ GDP ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น การลงทุนของรัฐบาลจะขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะเป็นผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดน้อยลงในอนาคต