ปิดฉากไปแล้วสำหรับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และยังเหลือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอีก 4 ระดับ
สำหรับการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.ที่ผ่านมานั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยสถิติการเลือกตั้ง ว่า ในการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 46,610,759 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 29,016,536 คน คิดเป็น 62.25%
สำนักงานกกต.ขอขอบคุณผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และขอบคุณคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ยอดผู้มาใช้สิทธิคิดเป็น 62% ซึ่งตํ่ากว่าเป้าที่กกต.ตั้งไว้ ที่จะมีผู้มาใช้สิทธิ 80% อาจมาจากหลายปัจจัย ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยหรือไม่ ยังไม่ทราบ
แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ระหว่างช่วงวันหยุดยาวและช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจออกมาใช้สิทธิของประชาชน เพราะบางคนไปท่องเที่ยว และกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวก่อนหน้านี้แล้ว และกำลังใกล้ปีใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดต้องรอดูตัว เลขจำนวนผู้แจ้งเหตุไม่มาใช้สิทธิอีกครั้ง เพราะมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามผ่านสายด่วน 1444 เกี่ยวกับวิธีการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องดูตัวเลขจากตรงนี้ด้วย
ส่วนเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง ขณะนี้มีจำนวน 156 เรื่อง แบ่งเป็นคำร้อง 149 เรื่อง ความปรากฏ 7 เรื่อง โดยรับไต่สวนแล้ว 68 สำนวน มีทั้งซื้อเสียง ให้ทรัพย์สิน หาเสียงหลอกลวง ข่มขู่ รวมถึงเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้ง อบจ.แล้ว ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องจัดเลือกตั้งอีก 4 ระดับคือ
1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล(สท.) 2,444 แห่ง
2. การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,330 แห่ง
3. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสภา กทม. 1 แห่ง
และ 4. การเลือกตั้งนายกพัทยา และ สภาเมืองพัทยา
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในหมู่ผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมา ในจังหวัดสมุทรสาคร และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดจากการไปซื้ออาหารทะเลที่มหาชัย ติดเชื้อปรากฎอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แล้วอย่างน้อย 8 จังหวัด ทำให้โอกาสที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเภทถัดไปออกไปได้สูง
โดย นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “ป.พิพัฒน์” ระบุว่า “โปรดทำจัย... จากเหตุไวรัสโควิดระบาดหนักแถวภาคกลางตอนนี้ แนวโน้มเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทถัดไปคงลากยาวไปถึงกลางปีหรือปลายปีหน้า ...เผลอๆ บางประเภท หรือทั้ง หมดอาจไปเลือกตั้งปี 2565 เสียด้วยซํ้าไป”
ขณะที่พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้บรรยายตอนหนึ่ง ในงานประชุมสัมมนาสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ว่า พร้อมเลือกตั้งเทศบาลต่อจาก อบจ. แต่หากเทศบาลยังไม่อยากเลือก ก็แจ้งรัฐบาลว่าไม่พร้อม และอีกทางให้เร่งกระทรวงมหาดไทยประกาศจำนวนประชากรในเดือนมกราคม เพื่อจะได้เลื่อนเลือกเทศบาลไปอีก ขณะที่การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจเป็นสาเหตุให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องล่าช้าออกไปอีก
เดิมเมื่อการเลือกตั้ง อบจ.ผ่านไปแล้ว ตามขั้นตอนจะต้องจัดให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 19 มกราคม 2564 และการเลือกตั้งประเภทถัดไปต้องเว้นระยะห่างจากการเลือกตั้ง อบจ. 60-90 วัน
จึงคาดการณ์ว่า การเลือกตั้ง เทศบาล และ อบต. น่าจะเกิดขึ้นได้ราวเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 แต่จากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในระลอก 2 ทำให้การเลือกตั้ง เทศบาล และ อบต. มีแนวโน้มสูงที่จะต้องเลื่อนออกไป
สำหรับการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ได้ทยอยประกาศเผยแพร่การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ไปเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว
คาดหมายว่า การเลือกตั้งเทศบาลน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในต้นปี 2564 และอาจรวมถึงการเลือกตั้ง อบต.ด้วย
สำหรับการเตรียมการ “เลือกตั้ง อบต.” นั้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) ได้มีหนังสือ เรื่อง การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมส่งสรุปข้อมูลการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และตัวอย่างประกาศอำเภอ เรื่องการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง และแบบรายงานการประกาศรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน
เพื่อให้แต่ละจังหวัดดำเนินการดังนี้ 1. เตรียมจัดทําประกาศกําหนดการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง โดยรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากราษฎรในหมู่บ้านที่มีจํานวน ราษฎรไม่ถึง 25 คน
2. สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประกาศให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง และแสดงเหตุผล
3. จัดทําประกาศการกําหนดการรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภาย ในวันที่ 31 มกราคม 2564 พร้อมทั้งรายงานให้จังหวัดทราบ เมื่อจังหวัดได้รับรายงานจากทุกอําเภอแล้ว ขอให้รายงานตามแบบสิ่งที่ส่งมาด้วย และสําเนาประกาศฯ ให้กระทรวงมหาดไทย ภายในวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดถัดไปว่า “ตอนนี้ยังเหลือประเภทใดอีก ก็ยังเหลือ อบต. กรุงเทพฯ พัทยา ก็ว่ากันไป ซึ่ง กกต.ก็ดำเนินการจัดการเลือกตั้งและเตรียมการไว้อยู่แล้ว”
เมื่อเจอการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ระลอก 2 เกิดขึ้นในประเทศไทย การเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทถัดไปที่จะเกิดขึ้น เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด เข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดการเลือกตั้งแล้ว
ส่วนจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลต่อไป...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,638 หน้า 12 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม 2563