25 มกราคม 2564 ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 208 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เข้ายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมพงษ์ กล่าวว่า การยื่นญัตติคราวนี้ยังมีรายชื่อ ส.ส.อีก 2 พรรค คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กับพรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมด้วย
นายชวน ให้สัมภาษณ์หลังจากได้รับยื่นญัตติแล้วจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง และจะแจ้งกลับไปยังผู้ยื่นภายใน 7 วัน จากนั้นจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน สว่นวันที่กำหนดไว้เบื้องต้น ว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ นั้น เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น และเมื่อบรรจุวรระแล้ว จะหารือวันที่แน่นอนอีกครั้ง ขณะที่นายสมพงษ์ กล่าวว่า 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คนและมีส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 208 คนร่วมยื่นญัตติ โดยมี ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคไทยศิวิไลย์ เข้าร่วมด้วย
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา กล่าวว่า ญัตตินี้เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำเป็นต้องอภิปรายรัฐมนตรีให้ครบทุกคน และอภิปรายในข้อมูลอย่างครบถ้วน สำหรับประเด็นที่อภิปรายอาทิ ทุจริตต่อหน้าที่, เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน, การบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว ขาดนิติรัฐ นิติธรรม ทั้งนี้ขอให้ติดตามเพราะมีหลักฐานชัดเจนและเป็นหมัดเด็ดแน่นอน ทุกวัน นายประเสริฐ ยังกล่าวด้วยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะตั้งวอร์รูมเพื่อประสานงานร่วมกัน โดยมีตัวแทนจากทุกพรรคเข้าร่วม เพื่อดูแลเรื่องเวลาและบุคคลทีอภิปราย โดยจะประสานเนื้อหา ซึ่งตนยืนยันว่า แม้เสียงในสภาฯจะสู้ไม่ได แต่เมื่อประชาบนได้ฟัง แล้วพรรคฝ่ายค้านจะเรียกศรัทธาจากประชาชนได้ ดังนั้นตนยืนยันว่าการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีความเป็นเอกภาพ
ขณะที่นายพิธา กล่าวยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านมีเอกภาพ อย่าให้เป็นรัฐบาลดื้อเพ่ง บริหารผิดพลาดและกลบเกลื่อน ขอให้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ในการเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งนี้ผู้อภิปราย วิปของทุกพรรคจะหารือร่วมกันบ่อยมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่กังวลต่อปัญหาที่จะกลายเป็นอุบัติเหตุเหมือนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา ซึ่งตนยืนยันว่าตราบใดที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคจะไม่มีอุบัติเหตุเหมือนที่ผ่านมา ที่ลูกพรรคอนาคตใหม่ ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ
ส่วนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่มีมวยล้ม พร้อมเรียกร้องให้สภาฯวางตัวเป็นกลาง อย่าเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล เหมือนอย่างกรณีที่เคยเชิญตนออกจากห้องประชุมเพราะไม่ต้องการให้อภิปรายเรื่องกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยอมรับว่า ครั้งที่ผ่านมานั้นไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมของสภาฯแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นตนไม่ยอมโดดเด็ดขาด
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย ทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
6.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
7.นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ
8.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
9.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
10.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายค้านเคาะซักฟอก"รมต.รายบุคคล"ยื่นญัตติ 25 ม.ค.
เร่งยื่นญัตติซักฟอก ล็อกเป้า‘นายกฯ’ปมแก้โควิด-19
วิป 2 ฝ่ายเคาะ“ซักฟอกรัฐบาล”16-19 ก.พ.