จ่อถอนสิทธิบัตรบีโอไอซินเคอหยวน หลังเหล็กสร้างตึก สตง. ตกมาตฐาน

01 เม.ย. 2568 | 03:27 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2568 | 03:27 น.

รมว.อุตสาหกรรมจ่อถอนสิทธิบัตรบีโอไอซินเคอหยวน หลังเหล็กสร้างตึก สตง. ตกมาตฐาน ลั่นเตรียมเพิ่มโทษหากพบเหล็กถูกอายัดนำมาขาย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า จากการที่นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กับผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นำเหล็กที่เก็บตัวอย่างมาจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเข้าทำการทดสอบคุณภาพที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย วันที่ 31 มี.ค. 2568 ประกอบด้วยเหล็ก 7 ประเภท (ไซส์) ได้แก่ 

  • เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร  
  • เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 
  • เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร
  • เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร
  • เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร
  • เหล็กกลม ขนาด 9 มิลลิเมตร
  • ลวดสลิง ขนาด 15.2 มิลลิเมตร

โดยจากการตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ทำการตรวจสอบโดยเริ่มจากการตัดชิ้นส่วนเหล็กทุกขนาดเพื่อนำไปตรวจมวลต่อเมตรหามวลจริงของเหล็กและส่งเหล็กไปตีให้แบน และนำไปตรวจทางเคมี เพื่อตรวจสอบส่วนประกอบของเหล็ก เช่น คาร์บอน โบรอน ซิลิกอน ว่าอยู่ในส่วนประกอบที่เหมาะสมหรือไม่และเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. หรือไม่ โดยใช้เวลาทดสอบรวมกว่า 4 ชั่วโมง 

จ่อถอนสิทธิบัตรบีโอไอซินเคอหยวน หลังเหล็กสร้างตึก สตง. ตกมาตฐาน

ทั้งนี้ ผลจากการทดสอบพบว่า ชิ้นส่วนเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน คือ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร มีมวลน้ำหนักเหล็กเบากว่ามาตรฐานและเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง 

นายเอกนัฏ ยังกล่าวต่ออีกเกี่ยวกับเหล็กยี่ห้อ SKY (ซินเคอหยวน) ซึ่งพบว่าเป็นยี่ห้อที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยถือเป็นโรงงานผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ส่งทีมชุดตรวจการเข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงาน ซิน เคอ หยวน สตีล ที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้พบข้อบกพร่องทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมหลายจุด โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงได้ยึดอายัดเหล็กไว้ทั้งหมด พร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ 

สำหรับผลการตรวจสอบช่วงเดือนม.ค. 2568 พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก จึงมอบหมายให้ชุดตรวจการกระทรวงฯ เข้าแจ้งผลต่อบริษัท พร้อมยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้วนั้น 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อไปอีกว่า ซินเคอหยวนทำมาค้าขายมานาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ด้วย โดยภารกิจสำคัญ คือ การปราบทุน 0 เหรียญ ที่มีภาษีเป็น 0 ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องผลักดันให้ธุรกิจไทยเติบโต โดยเหล็กชนิดดังกล่าวนักธุรกิจไทยสามารถทำได้

จ่อถอนสิทธิบัตรบีโอไอซินเคอหยวน หลังเหล็กสร้างตึก สตง. ตกมาตฐาน

อย่างไรก็ตาม ในฐานนะรมว.อุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ บอร์ดบีโอไอ จึงมองว่าเห็นสมควรที่จะถอนสิทธิบัตรหรือสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนการลงทุนออกจากบีโอไอ โดยจะต้องมีคณะกรรมการบีโอไอพิจารณา ดังนั้น ในด้านของคดีความก็ต้องดำเนินไป

กระทรวงฯเข้าไปตรวจตอนโรงงานซินเคอหยวนเกิดไฟไหม้และให้หยุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 และอาศัยอำนาจของกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ ให้หยุดกิจการ และเมื่อตรวจพบว่าเหล็กที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานก็สั่งปิด ดังนั้น จะเข้าไปตรวจสอบอีก หากพบว่าเหล็กที่อายัดไว้มีการนำมาขายแม้แต่เส้นเดียวจะมีโทษเพิ่มทันที แต่ต้องขอยืนยันว่าเหล็กที่สั่งยึดไว้คนละเรื่องกับที่บอกว่าเอาของกลางมาสร้างตึกสตง. เพราะตึกมีการสร้างมาก่อนที่สั่งปิดนานแล้ว 

ส่วนการเพิกถอนมอก. ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ดำเนินการเหมือนกันทุกราย เมื่อเจอตกมาตฐานก็ต้องอายัดเก็บขั้นตอนแรก ปกติตามขั้นตอนจะให้โอกาสธุรกิจ ไม่เช่นนั้นหากเจอแล้วปิดเลยก็จะเสี่ยงโดนฟ้องได้ แต่เมื่อให้โอกาสแล้วยังนำเหล็กที่ตกมาตรฐานมาใช้อีกก็ต้องดำเนินคดี โดยในความส่วนตัวมองว่าหากตกมาตรฐานขนาดนี้ต้องเดินหน้าเพิกถอน มอก. และต้องเก็บข้อมูลให้ดี