เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในประเด็นความไม่ชอบมาพากลในระบบบริหารการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
โดยตอนหนึ่งนายรังสิมันต์ ระบุเรื่องตั๋วในวงการตำรวจ ที่ก่อให้เกิดการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งมีนายตำรวจได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ให้เลื่อนขั้นได้ มาตั้งแต่ยุค พล.อ.ประวิตร จนมาถึงพล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน
พลเอกประยุทธ์ ชี้แจงว่า กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ มีหลักเกณฑ์เป็นการเสนอโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านผู้บังคับบัญชาการแต่ละชั้นขึ้นมา โดยจะต้องพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ความประพฤติความเหมาะสม และความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ต้องอาศัยความรู้พิเศษเฉพาะทาง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่ง
หลักการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมี 3 ระดับ ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะก.ตร.ในส่วนของแต่งตั้งชั้นนายพล ซึ่งมีกรรมการหลายท่าน บุคคลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บุคคลภายนอก ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา แต่ทั้งหมดต้องออกมาเป็น"มติความเห็นชอบ"ต้องมีการตรวจสอบ คัดกรองอย่างดี
ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.ระดับผู้บัญชาการ 2.ระดับสารวัตร รองผู้บัญชาการ 3.ระดับรองสารวัตร ตรงนี้ ใช้กติกา หลักเกณฑ์ และแบ่งเกณฑ์น้ำหนักอยู่แล้วว่า33%เป็นอาวุโส จะเอาอาวุโสอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องเอาความเหมาะสมแต่ละราย การดำเนินการเหล่านี้ ได้มีการกระจายอำนาจแต่ละระดับ สุดแล้วแต่ผู้บัญชาการแต่ละชั้นยศจะพิจารณากันอย่างไร ก็เสนอขึ้นมา การแต่งตั้งก็เป็นรูปแบบ"คณะกรรมการ"ทั้งสิ้น ส่วนระดับรองผู้กำกับการลงมา ก็ได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการแต่ละหน่วยพิจารณา ก็ถือเป็นการกระจายอำนาจ " นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า
กรณีที่กล่าวว่า ตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรม อันนี้เราให้โอกาส กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งสามารถจะร้องเรียน ร้องทุกข์ต่อผู้บัญชาการชั้นเหนือขึ้นไปได้ หรือ ก.ตร.ที่มีอนุกรรมการ หรือร้องทุกข์ต่อศาลปกครองหรือกระบวนการยุติธรรม และการประชุมก.ตร.ก็มีเสนอรายชื่อผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา
"ไม่ใช่ว่าไปใช้อำนาจ หรือไม่ให้โอกาสให้เขาชี้แจง แต่เป็นเรื่องของอนุกรรมการเป็นคนพิจารณา ผมสั่งเองไม่ได้ ทั้งหมด ทุกอย่างเป็นไปตามมติ ส่วนใครที่บอกว่า เสียเงินเสียทอง ท่านรองนายกฯ( พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และผมก็บอกอยู่แล้ว ก็ให้มาที่ผมหรือรองนายกฯก็ได้ ก็ไม่เห็นมีใครมาร้องเรียน ไปพูดจาภายนอก ผมก็เกรงว่าจะเป็นการแอบอ้าง เอาเงินทำนองนี้ ใครเสียเงิน ผมก็ว่าให้ประกาศ ใครมีใบเสร็จ เพราะการจะทุจริต มี 2 ทางคือ มีผู้รับและผู้ให้
ใครอ้างว่าผมกับท่านรองนายกฯ ได้ประโยชน์ ผมอยากถามว่าผมได้ประโยชน์ที่ไหน มีหลักฐานหรือยัง พูดอย่างงี้มันก็ลอยลม มันพูดได้หมด เรื่องการซื้อขายตำแหนง ผมก็บอกไปหลายครั้งให้ร้องเรียนเข้ามา หลายคนก็มีการร้องเรียนในกรรมการอุทธรณ์ แต่ไม่มีใครรับสารภาพว่าจ่ายให้ใคร และบอกว่าทั้งหมดนี้ส่งที่ผม ส่งที่รองนายก ฯ ผมขอยืนยันว่าไม่มี ผมยืนยันว่าผมไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากการเป็นนายกรัฐมนตรี "
นายกฯ ยังย้ำทิ้งท้ายว่า เราพยายามทำทุกอย่างให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ในเรื่องการตรวจสอบ ร้องเรียนร้องทุกข์ทั้งในระดับพลเรือนและนำมาสู่การแก้ไขปัญหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รังสิมันต์ โรม" อภิปราย “ประยุทธ์-ประวิตร” ชี้เป้ารู้เห็นตั๋วซื้อขายตำแหน่งตำรวจ
คำต่อคำ"บิ๊กช้าง" แจงข้อกล่าวหา"IO" ยันนายกฯไม่มีนโยบายสั่งการ
“ก้าวไกล” ขยี้ประเด็น IO หมดเวลานายกฯ “ไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่มี-ไม่ใช่”
คลิปนาทีนายกฯทิ้งไมค์ฉุน”ฝ่ายค้านมัวแต่หัวเราะ”
นายกฯห่วงเรียกอนาคตของชาติเป็น"นักเรียนเลว"ถามคนแอบหลังไม่สงสารเด็กหรือ