เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรคการเมืองที่ยังต้องการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” จะเดินหน้าแก้ไขต่อ แต่ปรับแผนมาเป็นการแก้ไขแบบ “รายมาตรา” ภายหลัง “รัฐสภา” โหวตควํ่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3
พรรคที่เริ่มขยับและเตรียมการแล้ว คือ พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค ออกมาเปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพรรคจัดทำการยกร่างแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีครบถ้วนแล้ว โดยฝ่ายกฎหมายจะได้มีการนัดประชุมกัน เพื่อเริ่มทำเป็นต้นร่าง
โดยมีร่างเดิมที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คือ มาตรา 256 และ มาตรา 272 และมีประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้ง รวมไปถึงประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเรื่องสิทธิชุมชน เป็นประเด็นเบื้องต้น โดยทำแยกเป็นรายฉบับ และไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 เมื่อดำเนินการเสร็จ จะนำเสนอหัวหน้าพรรคต่อไป ซึ่งฝ่ายกฎหมายคาดว่า จะเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ
พปชร.เพิ่มสิทธิประชาชน
ด้านท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ระบุถึงแนวทางว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรายมาตรา ได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะนำร่างแก้ไขรายมาตราเสนอต่อพรรคพปชร. พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในสมัยการประชุมหน้า
ส่วนประเด็นที่จะเสนอแก้ไข อาทิ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านและชุมชน ก็สามารถจัดหาทนายความมาให้การช่วยเหลือในทางคดี รวมถึงให้ส.ส.สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ส.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซง
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียด ในส่วนของการทำงานของสภาที่ยังมี ข้อติดขัดก็จะเสนอให้แก้ไข และบท บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณนั้น เห็นควรใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 มีความยุ่งยาก บัญญัติเนื้อหาค่อนข้างรัดกุมมากเกินไปจนเกิดอุปสรรคในการทำงาน ทั้งนี้ในเรื่องของระบบเลือกตั้งก็ต้องนำมาหารือด้วยว่า การจะใช้บัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร
ส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 270 จากเดิมที่บัญญัติให้ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศนั้น ต่อไปจะมีการเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา
พท.เล็งแก้ 4 ปม
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการนัดประชุมเพื่อมีข้อสรุป เบื้องต้น มีประมาณ 4 ประเด็นที่พรรคต้องการแก้ไข ประกอบด้วย
1. การเเก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เพิ่มเติมมาตรา 159 โดยการเลือกนายกฯ สามารถเลือกนอกบัญชีได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพื่อปิดทางนายกฯ คนนอก 2. แก้ไขมาตรา 270 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฯ 3. การยกเลิกมาตรา 279 รองรับคำสั่งและการกระทำของ คสช. และ 4. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง
“ก้าวไกล”ยกเลิกส.ว.
ด้านพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ระบุว่า จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยจะเน้นประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ยังมองว่าเรื่องที่สำคัญและต้องทำให้เร็วที่สุด คือการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า
ส่วนแนวทางของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ เราจะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตรา ปลดเสาคํ้ายันอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนด้วยการยกเลิก ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ
ภท.แก้ม.256-ตั้งส.ส.ร.
ด้านท่าที พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีรายงานว่า ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีจุดยืนเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ โดยมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การยกเลิกอำนาจ ส.ว. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง และประเด็นอื่นๆ ควรเป็นอำนาจของ ส.ส.ร.
ทั้งหมดเป็นท่าทีและจุดยืนเบื้องต้นของแต่ละพรรคการเมือง ที่ยังต้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และแนวโน้มจะเป็นเช่นไร ต้องติดตาม...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,665 หน้า 10 วันที่ 28 - 31 มีนาคม 2564