หลังเกิดการระบาดของ “ไวรัสโควิด- 19” ระลอก 3 สำหรับประเทศไทย ที่รุนแรงกว่ารอบแรก และรอบที่ 2 หวาดวิตกกันว่าศักยภาพด้านบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และ การเตรียมการรับมือของ “สาธารณสุขไทย” จะเพียงพอหรือไม่ และมีงบประมาณจากไหน จำนวนเท่าไหร่
มีข้อมูลเรื่อง “งบประมาณ” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับสำหรับเตรียมการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่น่าสนใจ
โดย ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตาม การใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปข้อมูลให้มาได้รับทราบกัน
หลัง ครม.อนุมัติวงเงิน ณ วันที่ 22 มี.ค. 2564 จำนวน 749,465 ล้าน เบิกจ่ายไปแล้ว 556,894 ล้าน คิดเป็นราว 74% แสดงว่า ในระยะเวลา 11 เดือน มีการเบิกจ่ายงบประมาณไป 74% เท่านั้น (เม.ย. 63-มี.ค 64)
สำหรับแผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับจำนวน 45,000 ล้านบาท พบ “ปัญหาการเบิกจ่าย” เฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์และการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรคเป็นหลักราวเกือบ 5,000 ล้าน
แต่แผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน, โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการ แพทย์ จนถึงระบบบริการรองรับกันแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินที่ได้อนุมัติรวมประมาณ 11,600 ล้านบาท แต่ “ไม่มีการเบิกจ่าย” แม้แต่บาทเดียว
คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปกว่า 20,000 ล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียงกว่า 5,000 ล้านเท่านั้น
การเตรียมการความพร้อมด้านสถานพยาบาลและการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้รับวงเงินอนุมัติราว 11,500 ล้าน แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 55 ล้านบาท เท่านั้น
แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขเบิกจ่ายเพียง 24.71%
อะไรเป็นสาเหตุของความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ จะกระทบต่อการจัดเตรียมเครื่องไม้ เครื่องมือ รองรับระบบสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมาก ขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“รัฐบาลต้องใช้ข้อมูลจริงที่มีทั้งหมด หาปัญหาให้พบ แล้วรีบแก้ไข โอกาสของรัฐบาลมาถึงแล้ววิกฤติิโควิด-19 จะเป็นโอกาสของประเทศหรือไม่ ขึ้นกับรัฐบาล” ดร.กนก ระบุ
ขณะที่ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ได้รับการจัดสรรเงินเงินงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 25,825.88 ล้านบาท เพื่อใช้ใน 39 โครงการ โดยเป็นโครงการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 25,175.32 ล้านบาท
และหน่วยงานนอก ได้ แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), รพ.พระมงกุฎเกล้า, รพ. ตำรวจ, สำนักอนามัย กทม. จำนวน 650.56 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 5 แผนงาน ได้แก่
1. ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย อสม. 4,726.38 ล้านบาท
2. จัดหายา วัคซีน ห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีน 2,655.30 ล้านบาท
3. การบำบัดรักษา ป้อง กัน ควบคุมโรคและการวิจัย โดย สปสช. 6,764.90 ล้านบาท
4. เตรียมสถานพยาบาลในการรักษาและกักตัวผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 10,182.73 ล้านบาท
5. รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาด 1,496.57 ล้านบาท
ขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินไปแล้ว 13 โครงการ วงเงิน 17,610.48 ล้านบาท ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุข, ค่าตอบ แทน อสม./อุปกรณ์ห้องแยกโรค, พัฒนาระบบบริการสุขภาพ, จัดซื้อชุด PPE, Isolation Gown, N 95, Mask, วัคซีนโควิด-19, วัสดุควบคุมป้องกันโรค, เครื่องฉายรังสีรักษา, พัฒนาห้องปฏิบัติการ/เครื่องมือ/คุณภาพวัคซีน และค่าปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย. 2564 ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 5,859.92 ล้านบาท คิดเป็น 33.28%
ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่รอจัดสรรอีก 26 โครงการ วงเงิน 8,215.40 ล้านบาท และมีวงเงินเหลือ 19,174.12 ล้านบาท
รองปลัด สธ. ระบุว่า “การใช้เงินที่ได้มามีแผนการใช้ชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติทั้งการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล รวมถึงการวิจัยพัฒนา การจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ ทำให้มียารักษาโรค มีวัคซีนเพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย มีการเพิ่มเตียง ขยายเตียงรักษาในรูปแบบต่างๆ รองรับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเหมาะสมกับอาการ เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจดูแลประชาชน โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ประชาชน ที่สำคัญงบประมาณที่นำมาใช้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรค เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”
ในเชิงของฝ่ายการเมืองมองว่า นี่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการใช้เงินกู้เพื่อรองรับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ถือเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง น่าจะรับไปดำเนินการแก้ไขได้...