การติดตามจับกุมตัวนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานเครือบริษัท “เอ็ม กรุ๊ป” และนายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ รองประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือ หลังมีผู้เสียหายหลายร้อยคนเข้าแจ้งความว่า ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนใน 5 รูปแบบ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ร่วมขบวนการไปแล้ว 4 คน
ล่าสุดทางด้านพล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ในฐานะหัวหน้าคณะชุดคลี่คลายคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสอบปากคำพยานบุคคล ผู้เสียหาย พยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้างเนื่องจากคดีมีความซับซ้อน ในส่วนของการติดตามตัว นายประสิทธิ์ และ นายกิตติศักดิ์ 2 ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่นั้น เบื้องต้นทราบว่า นายประสิทธิ์ ผู้ต้องหาคนสำคัญ หัวหน้าขบวนการ ได้ประสานติดต่อขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ค.นี้ ก็เป็นสิทธิ์พื้นฐานของผู้ต้องหา ส่วนจะมามอบตัวจริงหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ หากแต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองก็ยังคงต้องดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมต่อไปจนกว่าจะได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดนั้นจากการตรวจค้นภายในห้องทำงานส่วนตัวของนายประสิทธิ์ พบรูปถ่ายคู่กับข้าราชการ นักการเมือง และผู้มีชื่อเสียงทางสังคมเป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งข้อสังเกตุว่า นายประสิทธิ์ พยายามตีสนิทขอถ่ายรูปคู่กับบุคคลเหล่านี้เพื่อนำมาใช้สร้างภาพลักษณ์ โปรไฟล์ให้ดูน่าเชื่อถือ ไว้สำหรับหลอกลวงเหยื่อ โดยที่บุคคลเหล่านั้นอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด
ด้านพล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุว่า ได้รับทราบว่ามีกระแสข่าวว่านายประสิทธิ์ จะติดต่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเร็วๆ นี้ ซึ่งหากมามอบตัวตามที่มีกระแสข่าวจริง ก็ยืนยันว่ากองบังคับการปราบปรามพร้อมจะให้ความเป็นธรรมทางคดีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้ามอบตัวจริงหรือไม่ จึงยังให้ชุดสืบสวนออกติดตามนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งยืนยันว่ายังพบเบาะแสความเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศ
ส่วนเรื่องการสอบสวนขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 500 คนแล้ว ที่ร้องเรียนเข้ามาที่กองบังคับการปราบปราม และยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ตามต่างจังหวัดโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีความชัดเจนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกลางขึ้นมารับผิดชอบดูแลคดีนี้ ส่วนเรื่องการติดตามอายัดทรัพย์สิน ได้ประสาน ป.ป.ง. ดำเนินการไปแล้ว แต่ต้องการเน้นเรื่องการรวบรวมความเสียหายให้ได้ข้อสรุปก่อน
สำหรับคดีนี้ตำรวจระบุว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการเปิดบริษัทหลอกผู้เสียหายร่วมลงทุนใน 5 รูปแบบ คือ ซื้อแพคเกจทัวร์ ลงทุนเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซื้อขายทองคำ และลงทุนด้วยเงินสดหรือทองคำในระบบกองทุนส่วนตัว แลกกับผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท