“ธีระชัย”อัดรัฐบาลฉีกทิ้งวินัยด้านการคลัง

22 พ.ค. 2564 | 09:40 น.

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ข้อความว่า

“ฉีกทิ้งหลักการด้านการคลัง?”

ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อสาธารณสุข 3 หมื่นล้าน เพื่อเยียวยา 4 แสนล้าน และส่วนที่น่าเป็นห่วงมากสุด คือเพื่อฟื้นฟู 2.7 แสนล้าน

*น่าสงสัยทำไมเสนอ ครม. เป็นวาระจร?

ทำไมจู่โจม แทนที่จะโปร่งใสเปิดเผย แทนที่จะให้เอกสารล่วงหน้า

*น่าสงสัยว่า เป็นประตูไปสู่เงินทอนและผลประโยชน์แก่ สส. พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่?

พ.ร.ก. 1 ล้านล้านเดิม ก็มีข่าวว่าการใช้เงินฟื้นฟูหละหลวม ส่วนหนึ่ง ใช้เป็นงบส่วนราชการอันสามารถเป็นประโยชน์แก่พรรคที่คุมกระทรวง ส่วนหนึ่ง ผันไปเป็นงบแจก สส. วงเงิน 4.5 หมื่นล้าน จริงหรือไม่?

ดังนั้น สังคมไทยมีหน้าที่จะต้องช่วยกันวิเคราะห์เจาะลึก ตีแผ่ว่ารัฐบาลวางแผนให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไร

*ปัญหาเกี่ยวกับความฉุกเฉิน ความฉุกเฉินเกิด โดยไม่คาดคิด? หรือโดยตั้งใจ?

น่าสงสัยว่า รัฐบาลรู้ปัญหาโควิดมากว่า 15 เดือน แต่ทำไมไม่เตรียมเสนอรัฐสภาเพื่อกู้เงินด้วยวิธีออกเป็นพระราชบัญญัติไว้ ให้พร้อมแต่เนิ่น ๆ กลับปล่อยให้เหตุการณ์สุกงอม เป็นผลไม้ใกล้หล่น?

ในวันที่ประชาชนเดือดร้อนหนัก รัฐจำเป็นต้องมีเงินเพื่อแก้ปัญหา จะไม่มีใครกล้าขัดขวางการกู้เงินเพื่อประชาชน

สถานการณ์สุกงอมที่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน รวมไปถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมักจะเป็นช่องทางหาประโยชน์ส่วนตนที่สะดวกง่ายดาย

*ปัญหาช่องโหว่รั่วไหล ใน พ.ร.ก. ของรัฐบาลประยุทธ์ เกิดได้อย่างไร?

ปัญหาที่ใหญ่และน่ากลัว คือ พ.ร.ก. ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ มีช่องโหว่ใหญ่โต ที่เปิดให้รัฐบาลสามารถใช้เงินกู้ได้ง่าย และหละหลวมได้ตามใจ

ดังจะเห็นใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เมื่อปี 2563 มีข้อกำหนดที่แตกต่างจาก พ.ร.ก. ในอดีต ดังนี้

มาตรา 7 กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ออกแบบกฎหมายให้เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ

มาตรา 8 กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าท่ีและอำนาจ ต่อไปนี้

(1) พิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการให้เป็นไปตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนดนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

(2) กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการท่ีใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยทุกสามเดือน

(3) … (4) … (5) …

(6) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับกับการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ ระเบียบดังกล่าวเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือ หนึ่ง เลือกโครงการเอง สอง กำกับโครงการเอง และ สาม วางระเบียบเอง แบบครบวงจร

ถึงแม้มาตรา 7 วางกรอบให้คณะกรรมการฯ มีความหลากหลาย โดยมีเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสานักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ

แต่รายชื่อเหล่านี้ไม่เกินความสามารถที่นักการเมืองจะสั่งการ โดยเฉพาะเมื่อการดำเนินการตามบัญชาของนักการเมืองมีความปลอดภัยแก่ข้าราชการ

เพราะคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่กำกับโครงการเสียเอง และวางระเบียบเสียเอง ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ และตีความไปว่า ข้าราชการปฏิบัติผิดไปจากระเบียบที่ตนเองวาง จะมากมายได้อย่างไร?

*การเขียน พ.ร.ก. ในอดีต ก่อนหน้ารัฐบาลประยุทธ์ เป็นอย่างไร?

มี 3 รัฐบาลที่ออก พ.ร.ก. กู้เงินทำนองนี้ เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน

> รัฐบาลอภิสิทธิ์ คุณกรณ์เป็น รมว.คลัง ปี 2552

> รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมเป็น รมว.คลัง ปี 2555 และ

> รัฐบาลประยุทธ์ คุณอุตตม ปี 2563 และคุณอาคมเป็น รมว.คลัง ปี 2564 (มีคุณสุพัฒนพงษ์ที่เรียกตัวเองเป็น รมว.คลัง อาวุโส ที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย)

พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น เพื่อแก้ปัญหาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส่วน พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่

ทั้งสองฉบับตรงไปตรงมา คือบัญญัติวิธีการ

ทำงานแต่ด้านเงินกู้ด้านเดียว สมกับชื่อ พ.ร.ก. คือ

พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552

พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

ทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อบัญญัติด้านการใช้จ่ายเงินแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือน พ.ร.ก. ของรัฐบาลประยุทธ์

โดยมาตรา 4 วรรคสอง ของทั้งสองฉบับกำหนดเพียงว่า กระทรวงการคลังอาจนำเงินที่ได้จากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ

ระบุวัตถุประสงค์ในฉบับแรก เพื่อใช้จ่ายหรือลงทุนเพื่อฟื้นฟูหรือเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ได้

ในฉบับที่สอง เพื่อนำไปใช้จ่ายในการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศก็ได้

สรุปแล้ว ทั้งสองฉบับกำหนดให้ใช้จ่ายเงินตามวิธีปกติของหน่วยงานที่ได้รับเงิน ไม่มีอำนาจพิเศษ ไม่มีช่องโหว่ ไม่มีช่องทางที่อาจมีการรับเงินทอน หรืออาจมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น เกินเลยจากกฎระเบียบปกติ

การใช้เงินใน พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับ จึงรัดกุม เป็นไปตามครรลองปกติ เป็นการบริหารการคลังเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง

*พ.ร.ก. ที่เปิดช่องโหว่รั่วไหลอย่างของรัฐบาลประยุทธ์ เคยมีมาก่อนหรือไม่?

การออก พ.ร.ก. โดยกระทรวงการคลังในอดีตก่อนหน้าปี 2552 นั้น จะใช้วิจารณญาณและความซื่อตรงมาก ออกเฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ และใช้แก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น

พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังปรับโครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ พ.ศ. 2528 ก็เฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเงินกู้ต่างประเทศแบบตรงไปตรงมา

พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 ก็เฉพาะเพื่อแก้ปัญหาระบบแบงค์ล้มในวิกฤตต้มยำกุ้ง

และต่อมาเปลี่ยนแปลงอีก 2 ฉบับ ก็ทำแบบตรงไปตรงมา

สรุปแล้ว ก่อนหน้ารัฐบาลประยุทธ์ ไม่เคยมีการใช้ พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายเงิน ไม่มีการหลบเลี่ยงให้หลุดออกไปจากระเบียบกฎกติกาปกติ แม้แต่ฉบับเดียว

รัฐบาลประยุทธ์ที่ออก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านในปี 2563 เป็นรัฐบาลแรก ที่ ‘ยัดไส้’ เอากระบวนการใช้จ่ายเข้าไปใส่ไว้ใน พ.ร.ก.

เป็นการหลบเลี่ยงกฎกติกาปกติอย่างแยบยล อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ผมยังไม่เห็นร่าง พ.ร.ก. 7 แสนล้าน แต่ที่วิจารณ์นี้ เพราะคาดเดาว่า รัฐบาลประยุทธ์จะยัดไส้ ไม่ต่างจาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน

เพราะร่างเดิมนั้นใช้อำนวยความสะดวกให้แก่พรรคร่วมทุกพรรคได้เต็มที่ ผมจึงเดาว่า คงจะออกใหม่ ให้มีช่องโหว่ไว้พร้อมเหมือนเดิม

นี่หรือเปล่า ที่ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เข้าเป็นวาระจร ไม่แจกเอกสารล่วงหน้า และที่ต้องทำเป็นวาระลับ ห้ามแพร่งพรายจนกว่าจะลงพระปรมาภิไธย!

ภาษาอังกฤษเรียกวิธีการนี้ว่า fait accompli แปลว่า มัดมือชก

*น่าคิดว่า การซิกแซก เอาวิธีการใช้เงิน ไปยัดใส้ใน พ.ร.ก. เสียหายอย่างไร?

น่าเป็นห่วงว่า กระทรวงการคลังยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้รูปแบบการออก พ.ร.ก. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่รัฐบาล ในการเสนอโครงการใช้เงินเอง กลั่นกรองเอง อนุมัติเอง กำกับเอง และออกระเบียบเอง ยอมได้อย่างไร?

รัฐมนตรีและข้าราชการสมัยนี้ ไม่สนใจสร้างหลักการทำงานที่มั่นคงให้แก่ระบบราชการแล้วหรือ?

ทำกันอย่างนี้ ภาระไปตกอยู่กับประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร?

และถ้าทำเรื่องนี้ได้ จะเป็นประเพณี ต่อไปก็ทำได้ทุกเรื่อง ใช่หรือไม่?

พลเอกประยุทธ์ที่ปฏิวัติในวันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน พ.ร.ก. นี้ ทำให้ท่านได้กลายเป็นนักการเมืองที่ไม่น่าเชื่อถือไปแล้ว

วาระแห่งชาติ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ท่านอ้างเป็นจุดขาย แต่กลับเสนอ พ.ร.ก. ที่มาพร้อมกับช่องโหว่ ทำให้ภาพพจน์ของท่านเสียไปหมดแล้ว

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์  ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว วันที่ 22 พ.ค.2564 ว่า

พลเอกประยุทธ์อยู่มา 7 ปี ใช้งบแผ่นดินไป 20.8 ล้านล้านบาท กู้เงินทะลุ 4.9 ล้านล้านบาท ทำหนี้สาธารณะไทย ทะยาน ทะลุ 8.47 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนคนไทยสูงเป็นประวัติการ 14 ล้านล้านบาท ทะลุ 89.3% ของ GDP เอาแต่หว่านเงินแบบไร้ยุทธศาสตร์ ยิ่งทำคนไทยยิ่งจน บริหารล้มเหลวทุกมิติ ทำประเทศเดินถอยหลัง

เสียดายโอกาสของคนไทย

#7ปีรัฐประหาร

#7ปีแห่งความถดถอย

#7 ปีที่สูญเปล่าของคนไทย

“ธีระชัย”อัดรัฐบาลฉีกทิ้งวินัยด้านการคลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ธีระชัย" ชี้เก้าอี้ "รมว.คลัง" สะท้อนวิกฤตศรัทธาตัวนายกฯ

7 ปีรัฐประหาร "ยิ่งลักษณ์" ถาม "ประยุทธ์" คืนความสุขให้กับประชาชนแล้วหรือยัง

“7ปี รัฐประหาร” ถาม "ยิ่งลักษณ์" กลับ รู้สึกผิดไหม

'คุณหญิงสุดารัตน์' วอนคนไทย 'ฉีดวัคซีน' สร้างภูมิคุ้มกันหมู่