ประชุมสภา พิจารณางบ 65 เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

31 พ.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2564 | 09:30 น.

รายงานพิเศษ ประชุมสภา พิจารณางบ 65 เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

เบื้องหลัง 10 พรรคเล็กขย่มรัฐบาล 

สถานการณ์การเมืองกลางเดือน เม.ย.-พ.ค.64 อุณหภูมิที่ร้อนแรงและความกดดันทางการเมืองน้ำหนักน่าจะอยู่ที่เรื่องการบริหารจัดการปัญหาโควิดรอบที่ 3 หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าจะได้เริ่มเห็นการแสดงออกมากขึ้นที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบการชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มคนหลากหลายทั้งคนที่เคยสนับสนุนหรือไม่ได้ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเริ่มออกมาแสดงออกทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น 

ล่าสุด 10 พรรคเล็กประกาศนัดหารือด่วนกดดันรัฐบาล พร้อมๆ กับงบประมาณปี 2565 จะเข้าวาระ 1 หากสภาฯ โหวตไม่รับหลักการในวาระแรก รัฐบาลถึงขั้นยุบสภา 

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา นายพีระวิทย์ เรื่องรือดลภาค หัวหน้าพรรคไทยรักธรรม ในฐานะวิป 10 พรรคร่วมรัฐบาล แจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า

“ด่วน!!! นัดหารือกำหนดท่าที 10 พรรคการเมือง ในการทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาล วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ชั้น 5 ห้องประชุมร่วม 10 พรรคเรียนเชิญ หัวหน้าพรรคการเมือง เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน”

ประชุมสภา พิจารณางบ 65 เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในเวลาต่อมาประมาณ 17.00 น.นายพีระวิทย์ ได้ออกมาระบุอีกครั้งว่าโดยอธิบายชี้แจงว่า 
1.การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ควรมีส่วนพูดคุยหารือแนวทางร่วมกัน ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ เวลาประชาชนถามพรรคร่วมรัฐบาลเราไม่มีคำตอบ
2.เวลาอภิปรายงบประมาณ เดิมได้รับการจัดสรรพรรคละ 54 วินาที (รวม 8 นาที) ตอนนี้เพิ่มให้เป็น 26 นาที พรรคเล็กจึงต้องหารือกันบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ...นี่คือสาเหตุที่นัดหารือกัน 

ประชุมสภา พิจารณางบ 65 เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ 10 พรรคที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาทิ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่  พรรคพลังชาติไทย  พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน 

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ฝั่งเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ นอกจากพรรคหลักๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ก็ยังมี กลุ่ม 10 พรรค ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก มี ส.ส.พรรคละ 1 คน เกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่ม 10 พรรคอยู่ร่วมรัฐบาลด้วย ได้แก่
1.    พรรคพลังชาติไทย
2.     พรรคประชาภิวัฒน์ 
3.    พรรคไทยศรีวิไลย์
4.    พรรคพลังไทยรักไทย
5.     พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
6.     พรรคประชานิยม
7.     พรรคประชาธรรมไทย
8.    พรรคพลเมืองไทย
9.     พรรคพลังธรรมใหม่ 
10.    พรรคไทรักธรรม

ก่อนหน้านี้ “นายชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อสภา ฯเปิดประชุม พรรคร่วมรัฐบาลคงคาดหวังว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ สะสมทุนทางการเมืองครั้งสุดท้ายก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาฯ พรรคร่วมรัฐบาลนอกจากช่วยประคองงบฯรอบนี้ให้ผ่านไปให้ได้แล้ว ยังเตรียมทางออกอื่นอีกหลายอย่าง เพราะไม่แน่ว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในระยะเวลาใกล้ๆโดยไม่คาดฝัน อาจจะปลายปีนี้หรือต้นปี 2565 ก็เป็นได้

ด้าน “นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยวิเคราะห์ไว้ว่าเฉพาะสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นก็ถูกตั้งคำถามไม่ว่าจะเกิดจากที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงคริสตัลคลับ ท่องหล่อว่า เป็นสถานที่ที่เรียกอีกชื่อว่า “ไทยคู่ฟ้าคลับ”

การปล่อยให้เปิดบ่อน แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รัฐมนตรีติดโควิด  และก่อนหน้านี้ ศบค.ยังจะเอาผิดประชาชนติดโควิดแล้วไม่มีแอปหมอชนะ 

ส่วนเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหามาตลอด พรรคร่วมจะเริ่มปฏิเสธความรับผิดชอบกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะลอยแพพรรคร่วมรัฐบาลได้เช่นกัน ดังที่เห็นๆกันอยู่ เช่น การตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก 18 คน แต่ไม่มีชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างฝ่ายต่างทำเงียบๆ หวังผลการเลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบาลล้มเหลวไม่เป็นท่าทุกด้าน ยิ่งมาเจอพรรคร่วมจะตีจาก หวังจะประคองจนงบฯปี 65 ผ่านคงได้ยากลำบาก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของ 10 พรรคร่วมที่มีต่อรัฐบาล ไล่เรียงตั้งแต่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ซึ่งออกจากที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 20 เมษายน 
ปฏิบัติการล่ารายชื่อ “หมอไม่ทน” หลังการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดอันมาจากกรณีไทยคู่ฟ้าคลับ  

แรงกระแทกพุ่งเข้าใส่พรรคภูมิใจไทย อีกฝั่งพุ่งเข้าใส่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้า พรรคภูมิใจไทย 
รวมทั้งการยืนยันถึงประกาศและบังคับใช้พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25  มีนาคม 2563 ที่ระบุว่าอำนาจในการบริหารจัดการสถาณการณ์โควิดไม่ได้เป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่เป็นของหัวหน้า ศบค. ก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 

เช่นเดียวกับปฏิกิริยาต่อคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 ที่แทบทุกระดับตั้งแต่สมาชิกจนถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นการดิสเครดิตรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ และเปิดทางให้กับพรรคพลังประชารัฐ 

แต่เบื้องหลังที่หลายคนคาดว่าอาจมีความเป็นไปได้อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ 10 พรรคเล็กประชุมหารือครั้งนี้ คือ “การขู่เพื่อถอนตัว”  เหตุผลเพราะน้อยใจพรรคพลังประชารัฐ  แกนนำรัฐบาลที่ไม่ให้ความสำคัญกับพรรคเล็กเท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมา เหมือน ถูกเมิน ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงให้ แม้ว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน ที่สำคัญแกนนำบางคนในพลังประชารัฐยังเอาอกเอาใจ ส.ส.ฝ่าย ค้านมากเป็นพิเศษ 

งานนี้ไม่รู้ว่าการประชุมจะเป็นการต่อรองให้พลังประชารัฐส่งท่อน้ำเลี้ยงเพิ่มหรือไม่   
 

จับตาพิจารณางบปี 65 เสถียรภาพรัฐบาล ยังปึ๊ก?

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ในช่วงวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2564 นี้ 

ถือเป็นวิกฤติที่รัฐบาลขาดความเชื่อมั่น ยิ่งมีวิกฤติเสถียรภาพรัฐบาล หลายคนออกมาบอกว่าอายุรัฐบาลน่าจะเหลือน้อยเต็มทีแล้ว เพราะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ขนาดการอภิปรายยังไม่เริ่ม ยังมีการอภิปรายนอกสภาฯจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองหนาหู ตำหนิข้อผิดพลาดการบริหารจัดการงบฯปี 65 

ต้องจับตาดูว่าเมื่อมีการอภิปรายจริง เสถียรภาพรัฐบาลที่มีปัญหาจะส่งผลต่อการพิจารณางบฯ 65 หรือไม่ ? และที่สุดแล้วความอดทนของพรรคร่วมรัฐบาลต่อนายกฯจะสิ้นสุดลงตามที่มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะที่ที่ผ่านมาแต่ละพรรคเห็นชัดแจ้งว่าที่ทำอยู่คือการค้ำยันอำนาจให้นายกฯ เท่านั้น จากนี้ไปจะมีความพยายามเอาตัวรอดจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอมจะเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

มาดูฝั่งโฆษกรัฐบาล ฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมชี้แจงรายละเอียดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 

และได้กำชับคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม.ที่ผ่านมาว่า การประชุมสภาฯในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชี้แจงให้ ส.ส.ทราบถึง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อได้รับทราบถึงการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ด้วย และย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยของ ส.ส. และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบไปในคราวเดียวกัน 
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 

รายจ่ายประจำ จำนวน 2,360,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับรายจ่ายลงทุนมีจำนวนทั้งสิ้น 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลที่มีจำนวน 7 แสนล้านบาท

ส่วนข้อสังเกตุเกี่ยวกับงบประมาณปี 2565 ที่มีการตั้งงบลงทุน น้อยกว่าวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนั้นอาจจะขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี

โฆษกรัฐบาล ระบุว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในการจัดงบประมาณในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลสามารถเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วย

1.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท

2.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท

3.การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้

นอกจากนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 23.67 ตามด้วยยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลย์และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.05 และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17.68

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเน้นว่า นายกรัฐมนตรีจะได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจ้งหลักการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากสถานการณ์โควิด - 19 (พ.ศ. 2564 – 2565) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยได้พิจารณาทั้งแหล่งเงิน ศักยภาพหน่วยงาน และได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำลังจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (31 พ.ค. 2564 ) เป็นการประชุมที่ต้องติดตาม เนื่องจากเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. จากนั้นลงมติว่าจะรับเห็นชอบรับหลักการหรือไม่ 

ซึ่งก่อนที่จะถึงวันนี้ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณที่ถูกนำมาเปรียบเทียบระหว่าง “กระทรวงกลาโหม” และ “กระทรวงสาธารณสุข” โดยพุ่งไปที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่อ้างถึงภารกิจป้องกันประเทศ จนงบประมาณเพิ่มขึ้นแซงหน้ากระทรวงสาธารณสุขถึง 5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด

ประชุมสภา พิจารณางบ 65 เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

ว่ากันว่าตัวเลขร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 ในครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดโดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งไว้ 1.53 แสนล้านบาท แต่ถูกหั่นลงจากปีที่แล้ว ทั้งที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาโรคระบาดในเวลานี้ ส่วนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 ได้ตั้งไว้ 203,281 ล้านบาท ถือว่าลดลงจากปี 2564 กว่า 10,000 ล้านบาท
 

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณประจำปี 65 ที่ กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรมากกว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้น ว่า กระทรวงกลาโหม มีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศและการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์ของโรคโควิดที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งกระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพได้ตระหนักถึงภาระงบประมาณของรัฐบาลที่จำเป็นต้องนำไปแก้ปัญหาและเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยกระทรวงกลาโหม ได้มีส่วนร่วมพิจารณาปรับลดงบประมาณในภาพรวมของทุกเหล่าทัพลงกว่า 18,000 ล้านบาทในปี 63 และในปี 64 กลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงกว่าปี 63 จำนวนกว่า 17,200 ล้านบาท ต่อเนื่องมาถึง ปี 65 

ทั้งนี้แต่ละกระทรวงก็มีภารกิจที่แตกต่างกันและกระทรวงกลาโหม ขอยืนยันถึงความพร้อมในทุกภารกิจเพื่อประชาชน จึงไม่อยากให้นำงบประมาณของแต่ละกระทรวงไปเปรียบเทียบกัน 

แม้สังคมจะเข้าใจได้ว่ากระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ป้องกันประเทศย่อมจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ แต่สภาพปัจจุบันที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติโควิดต่อเนื่องและไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น  จนมีผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยสะสม 119,949 ราย เสียชีวิต 678 ราย ดังนั้นการจัดงบฯเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกฝ่ายจึงยอมรับไม่ได้แน่

หลายฝ่ายมองว่าในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติของเชื้อไวรัสโควิดหากการจัดทำงบประมาณในส่วนกลาโหมยังมุ่งสู่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าที่จะนำงบฯ มาดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา และรักษาประชาชน นั้นก็อาจมีผลพวงตามมา เพราะสังคม ประชาชน กำลังจ้องมองการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้ร่มเงาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมโจมตีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง โดยตอกย้ำความล้มเหลวในหลายมิติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยวางกรอบอภิปรายความผิดพลาดล้มเหลวเป็น 4 ด้าน ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันจุดยืนไม่รับร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน ดังกล่าว

1.    ภาพรวมเศรษฐกิจสังคมของประเทศในปี 65 จะชี้ให้เห็นว่ารัฐประมาณการผิดพลาดเกินจริงว่าโควิดจะหาย เศรษฐกิจจะฟื้นตัว 

2.     ชี้ให้เห็นว่าเมื่อประเมินสถานการณ์ผิดพลาดแล้วมาตั้งโจทย์ผิดและตอบโจทย์พลาด จึงจัดงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาโควิดน้อยกว่าควรจะเป็น จะพาประเทศออกจากวิกฤติไม่ได้ 

3.     ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจัดงบฯผิดพลาดและประเทศไม่มีโอกาสลืมหูลืมตาคือการกู้จนชนกรอบเพดานวินัยการเงินการคลัง อาจทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ระบบการเงินการคลังของประเทศพังในที่สุด 

4.     ชี้ให้เห็นถึงการปรับลดงบฯไม่สมดุล มีเจตนาเอื้อพวกพ้องและทอดทิ้งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น การปรับลดงบประมาณที่ไม่สมดุลบางกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหมที่ควรลดจำนวนมากแต่ไม่ปรับ ดันไปลดของกระทรวงที่ควรเพิ่มคือกระทรวงสาธารณสุข และยังมีอีกหลายด้านหลายยุทธศาสตร์ที่ดูแล้วเป็นการปรับลดไม่สมเหตุ–สมผล ไม่เป็นไปตามสภาวการณ์ของประเทศ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง