ระอุขึ้นมาอีกครั้งกับเรื่องของสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) และกระทรวงมหาดไทย(มท.)ตั้งแท่นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชี้ขาดกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา สุดท้ายต้องวืดไปอีกหน เพราะถูกกระทรวงคมนาคมและเครือข่ายในภาคประชาชนที่นำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาร้องแรกแหกกระเชอ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะพิจารณาต่อขยายสัมปทานให้กับบมจ.บีทีเอส BTS ในห้วงเวลานี้
ด้วยข้ออ้างเดิม ๆ อัตราค่าโดยสารที่กำหนดตามร่างสัญญาที่ 65 บาทตลอดสายสูงเกินไป ยิ่งในสถานการณ์ไวรัสโควิดด้วยแล้ว โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายยังคงยืนยัน นั่งยันว่า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมนั้นคิดแค่ 25 บาทตลอดสาย ก็ยังทำให้กทม.มีกำไรกว่า 23,000 ล้าน จึงสมควรที่รัฐจะดึงโครงการกลับมาโม่แป้งเอง
เห็นจุดยืนของกระทรวงคมนาคมและเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคข้างต้นแล้ว สังคมต่างก็ตั้งข้อกังขาจุดยืนการออกโรงคัดง้างการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวที่ว่านี้เป็นไปเพื่อผู้บริโภคแน่หรือ หรือว่าไป “รับจ๊อบ” กลุ่มทุนใดมาหรือไม่? เพราะเครือข่ายเหล่านี้เอาแต่ “ค้านตะบี้ตะบัน” โดยไม่ยอมนำเสนอหนทางออกว่า จะให้ กทม.ทำอย่างไรกับหนี้ท่วมหัวกว่า 30,000 ล้านที่กำลังถูก BTS ฟ้องหัวเอาในเวลานี้
ยังไม่รวมหนี้ระบบรถไฟฟ้า ดอกเบี้ยที่จะทยอยครบดีล และค่าจ้างเดินรถในระยะ 8-9 ปีข้างหน้าก่อนสัญญาสัมปทานหลักสิ้นสุดลงในปี 2572 อีกกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท!จะปล่อยให้บีทีเอสทวงหนี้ออกสื่อไปอย่างนี้ไปจนบริษัทถอดใจไปเองหรือไม่ก็ “เจ๊งยับคามือ”ไปเองหรืออย่างไร? จะปล่อยให้เขาประจานความไม่เอาถ่านของรัฐ ประจานเครดิตของรัฐบาลกันไปอย่างนี้ แล้วเครดิตของรัฐบาลของประเทศจะเป็นอย่างไร จะไปเพรียกหานักลงทุนหน้าไหนเข้ามาลงทุนในประเทศได้อีก
แน่นอนว่า หนี้มหาศาลก้อนหนี้ถึงอย่างไร กทม.ไม่อาจบิดพลิ้วหรือชักดาบคู่สัญญาเอกชนได้ ต่อให้ต้องทอดยาวไป 5 ปี 10 ปียังไงเสียก็ต้องได้รับการจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยกองพะเนินจากรัฐอย่างแน่นอน แต่ก็อย่าลืมว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือBTSที่ว่านี้เคยผ่านบทเรียนที่ต้องแบกหนี้ท่วมจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายแบบ “การบินไทย”มาแล้ว บริษัทต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ต้องยอม "แฮร์คัตหนี้" ไประลอกหนึ่งแล้ว
หากต้องแบกหนี้ท่วมจากที่รัฐเอาแต่ซื้อเวลาไม่ยอมชดใช้หนี้ให้อีก จนไม่อาจจะให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้อีก ถึงเวลานั้นรัฐจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ กระทรวงคมนาคมและเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคจะบากหน้าเข้ามารับผิดชอบแทนได้หรือ?
เรื่องของค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวที่กำหนดไว้ในร่างสัญญาสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย (จาก 3 โครงข่ายระยะทาง 68 กม.)หากจะมีการต่อสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีนั้น อัตราดังกล่าวแพงหรือไม่อย่างไร ทุกฝ่ายที่กำลังออกมาร้องแรกแหกกระเชอต่างก็รรู้แก่ใจกันดีอยู่ เพราะนั่นคืออัตราค่าโดยสารในระยะ 20-30 ปีข้างหน้าที่ค่าเงิน 10-15 บาทในวันนี้อาจเทียบเท่ากับเงิน 30-40 บาทไปแล้ว
การจะให้รัฐกำหนดค่าโดยสารไว้แค่ 25 บาทตลอดสาย เป็น "รถไฟฟ้าประชารัฐ" ดั่งที่เครือข่ายเพื่อผู้บริโภคตีปี๊บกันเป็นรายวันอยู่น้ัน จะมีหลักประกันใดว่า จะไม่ทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ “เจ๊งยับคามือ”เอา เพราะบทเรียนจากรถไฟฟ้า "แอร์พอร์ตลิงค์"ของการรถไฟฯ เป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็รู้เช่นเห็นชาติกันอยู่โทนโท่
จะว่าไปอัตราค่าโดยสาร 25 บาทที่เครือข่าย “ยกเมฆ” กันขึ้นมานั้น มีที่ไปที่มาอย่างไร คำนวณมาจากไหนถึงได้ต่ำติดดินกันซะขนาดนั้น ที่แม้แต่ค่าโดยสารรถเมล์แอร์ ชสมก.ยังทำไม่ได้เลยนั้น ทางเครือข่ายเองก็ไม่เคยให้ความกระจ่างแก่สังคมเช่นกัน และหากรถไฟฟ้า สายเขียวที่เอกชนลงทุนโครงข่ายหลักทั้ง 100% (กทม.มาต่อยอดลงทุนเฉพาะโครงข่ายส่วนต่อขยาย 2 สายทาง) เครือข่ายยังสามารถคำนวณค่าโดยสารแค่ 25 บาทก็ยังมีกำรี้กำไรตั้ง 23,000 ล้านบาทแล้ว
แล้วเหตุใดเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคถึงไม่กระทุ้งรัฐ และกระทรวงคมนาคมที่เคยขึ้นเวทีร่วมสัมมนากับเครือข่ายมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ให้ปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่ให้สัมปทานแก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่กำหนดค่าโดยสาร 15-42 บาท และสูงสุดตั้ง 69 บาทลงให้เป็นตัวอย่างให้ได้เสียก่อนเลยตั้งแต่วันนี้
เพราะรัฐบาลและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้จ่ายค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ (คิดเป็น 70-80% ของมูลค่าโครงการ)ไปหมดแล้ว เอกชนที่รับสัมปทานเดินรถแค่มาลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจัดหาขบวนรถเข้ามาว่ิงให้บริการเท่านั้น แถมรัฐเองไม่ได้จัดเก็บค่าต๋งสัมปทานเลยสักสตางค์แดงเดียว จึงไม่เห็นจะต้องไปจัดเก็บค่าโดยสารเทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า กทม.ที่เอกชนต้องลงทุนเองทั้ง 100 % เลยนี่
ท้ายที่สุดแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นว่าอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดสายสูงเกินไป มันก็มีหนทางในอันที่จะปรับลดราคาลงมาได้อยู่แล้ว เพราะในร่างสัญญาที่ กทม.กับคู่สัญญาเอกชนจัดทำกันไว้นั้น นอกจาก BTS ต้องตรึงค่าโดยสารไว้ที่ 65 บาทตลอดสายแล้ว ยังต้องแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดของ กทม.ไปด้วยอีก รวมทั้งยังต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาทด้วย
หากนายกฯจะสั่งให้กทม.ปรับลดค่าต๋งสัมปทานลงมาสัก 50% เหลือเพียง 100,000 ล้านบาทเพื่อให้บริษัทนำส่วนลบดค่าสัมปทานที่มีไปปรับลดค่าโดยสารให้ประชาชน ก็อาจกดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงมาเหลือ 40-50 บาทได้ ดีไม่ดี หาก กทม.ไม่เรียกเก็บค่าสัมปทานจาก BTS แบบสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ รฟม.ทำไว้กับ BEM แล้ว จะกำหนดหรือลดค่าโดยสารลงมาให้เหลือ 25 บาทตลอดสายตบหน้ารถไฟฟ้า รฟม.อย่างที่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่จะต้องรีบเคลียร์หน้าเสื่อให้มันจบเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่เอาแต่ “ซื้อเวลา-ซุกปัญหาใต้พรม” จนกลายเป็นประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาลนำเอาไปเป็นประเด็นต่อรองทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ จริงไม่จริง ฯพณฯท่านนายกฯ!!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง