ดึงสปก.7หมื่นไร่ ปั้นเมืองใหม่EEC ชงกพอ.ไฟเขียว3ตำบล  จ.ชลบุรี

18 ธ.ค. 2563 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2563 | 09:21 น.

    พลิกที่สปก.-ไร่มันสำปะหลังชลบุรี ปั้นเมืองใหม่อีอีซี 7 หมื่นไร่ รับซีพีปรับสถานีจากพัทยามาห้วยใหญ่ สกพอ.โฟกัสพื้นที่ 3 ตำบล “โป่ง-ห้วยใหญ่-เขาไม้แก้ว” ของอำเภอบางละมุง จ่อดันเข้า กพอ. 18 ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้า ม.ค.64 ประเดิม 7 พันไร่ ผุดสมาร์ทซิตี้

 

 

     

  

การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่เป็นเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่โครงการพัฒนาเมืองใหม่ถือเป็น 1 ในโครงการขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นตั้งเป้าหมายให้เกิดเม็ดเงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาท เริ่มเห็นภาพชัดมากขึ้น หลังจากได้มีการศึกษาและเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาเป็นระยะๆ จากที่ก่อนหน้านี้อีอีซี มีกรอบตั้งโมดูลเมืองใหม่อัจฉริยะที่มีขนาด 12,500 ไร่ รองรับประชากรได้ 150,000 คน โดยจะใช้พื้นที่เป็นแบบผสมผสาน (Mixed-Use Land) และอาจขยายอีก 5 โมดูลเพื่อรองรับประชากร 1 ล้านคนใน 15 ปี
    ล่าสุดโครงการพัฒนาเมืองใหม่ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้พื้นที่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่เป้าหมาย และจะนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจรณาเห็นชอบในหลักการวันที่ 18 ธันวาคมนี้ หรือช้าสุดไม่เกินเดือนมกราคม 2564

เจาะ3พื้นที่ 7 หมื่นไร่
    แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก(สกพอ.) ยืนยันว่าการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี อยู่ระหว่างเร่งรัดเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะ เมืองใหม่อัจฉริยะ 7หมื่นไร่ครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ ตำบล โป่ง ,ตำบลห้วยใหญ่ และ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี เพื่อรองรับคนที่จะเข้ามาอยู่ในอนาคต 10-20ปีข้างหน้า โดยเฟสแรก มีเป้าหมายพัฒนา 7,000 ไร่
    ล่าสุดช่วงเดือนที่ผ่านมาทีมงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน นักลงทุนในพื้นที่ กรณีการจัดโซนพัฒนาเมืองใหม่ ให้สอดรับกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาและมหานครการบิน ภาคตะวันออก ส่วนการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูง จากพัทยามาที่ตำบลห้วยใหญ่ บางละมุงนั้นขณะนี้สกพอ.ยังรอคำตอบจาก เอกชนผู้รับสัมปทาน

ไม่ลืมเกษตรกร
    ขณะเดียวกันยังไม่ลืมกลุ่มเกษตรกรโดยวางแผนใช้เทคโนโลยีทันสมัย ยกระดับสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามเมืองอัจฉริยะมีเป้าหมายพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงานทันสมัย รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองอุตสาหกรรม
    สอดคลองกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำร่างผังเมืองรวมรายอำเภอ 30แห่ง กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเมืองอีอีซี ทั้งที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง และสมาร์ทซิตี้ ท่าเรือ จุกเสม็ด เมืองการบิน

พลิกไร่มันสู่สมาร์ทซิตี้
    ขณะการสำรวจพื้นที่ตั้งเมืองใหม่ส่วนใหญ่สถานะปัจุบันเป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ที่ดินรกร้าง ที่ดิน เขตปฏิรูปเกษตรกรรม หรือส.ป.ก.มีประชาชนจำนวนมาก ใช้เป็นที่ทำกิน ปลูกบ้านอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมานายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ตลาด) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าพื้นที่ 3ตำบลดังกล่าว เป็นที่ตั้งเมืองใหม่จริงเพราะช่วง1เดือนที่ผ่านมา ทีมงานอีอีซี โดยบริษัทที่ปรึกษา ลงพื้นที่ จังหวัดชลบุรี พร้อมเชิญกลุ่มการค้าภาคตะวันออก, หอการค้า จังหวัด คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด หรือกรอ.จังหวัด ร่วมรับฟังความคิดเห็นการใช้พื้นที่ตั้งเมืองใหม่ และดึงความสนใจให้เอกชนในพื้นที่ ร่วมพัฒนาโครงการ

 

 

ดึงสปก.7หมื่นไร่ ปั้นเมืองใหม่EEC ชงกพอ.ไฟเขียว3ตำบล  จ.ชลบุรี

ไฮสปีดย้ายมาห้วยใหญ่
    แต่ทั้งนี้มองว่าทางอีอีซีน่าจะมีเอกชนรายใหญ่ในมืออยู่แล้ว ขณะรถไฟความเร็วสูง มีแผนย้ายสถานีมาที่ตำบลห้วยใหญ่รองรับการพัฒนาเมืองพอดี
    นายสุนทรยังสะท้อนว่าที่ผ่านมา คนในจังหวัดชลบุรีมักไม่ทราบแผนเชิงลึกของสกพอ.ว่าจะ เดินอย่างไรโดยเฉพาะที่ดินซึ่งที่ผ่านมามักไม่เปิดเผยว่าอยู่บริเวณใด เข้าใจว่า กลัว คนกว้านซื้อเก็งกำไร

เก็งกำไร ดันที่พุ่ง
    อย่างไรก็ตาม ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประกาศให้ 3 จังหวัด เป็นเขตอีอีซีราคาที่ดิน พุ่งสูงต่อเนื่องและมา ทรงตัวช่วงสถานการณ์โควิด สำหรับราคาที่ดิน บริเวณบางละมุง ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งโครงการเมืองใหม่ นายสุนทร อธิบายว่ายังไม่สูงมาก หากแปลงที่ดินติดถนนใหญ่ ราคาประมาณเกือบ 10ล้านบาทต่อไร่ ขณะพื้นที่ที่ยังเป็นไร่มันน่าจะหลัก 2-4 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะรัศมีแนวมอเตอร์เวย์ สาย 7 เชื่อม สนามบินอู่ตะเภา มีการจับจองพื้นที่เต็มทั้งหมดแล้ว

 

 

ชาวบ้านค้าน
    ขณะนักวิชาการในพื้นที่ และชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดชลบุรีโดยเฉพาะ 3 ตำบล ดังกล่าว ส่วนให้ ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะปัจุจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ขณะปัจจุบันมีความพยายามปรับเอื้อนายทุนเป็นพื้นที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ มองว่าไม่เหมาะสม
    นอกจากนี้ในเขตตำบลไม้ขาว บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินจำกัด (มหาชน) หรือ WHA ซื้อที่ดินกว่า 1,000 ไร่เพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม หากเมืองใหม่ตั้งบริเวณดังกล่าวเชื่อว่าจะเอื้อต่อกันพอดี
    ที่ผ่านมา คนในพื้นที่มักถูกปิดหูปิดตาโดยมักดึงนักลงทุนต่างถิ่น นักลงทุนต่างชาติ เข้าพื้นที่ และผลักชาวบ้านออกจากพื้นที่ไปอย่างไม่เป็นธรรม

 

รฟท.ยันยังไม่สรุป
    ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานจากสกพอ.ภายหลังการประชุมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่าที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปถึงการปรับรูปแบบสถานีพัทยาเนื่องจากบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด  (กลุ่มซีพี) ยังไม่ได้ตอบกลับรฟท. ว่าจะย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงไปที่สถานีชลบุรี ฉะเชิงเทรา พัทยา หรือไม่ ทำให้รฟท.ยังยึดตามเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งขณะนี้เลยกรอบระยะเวลาที่รฟท.ให้เอกชนส่งข้อมูลตอบกลับในการปรับย้ายสถานีดังกล่าวแล้วช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้รฟท.จำเป็นต้องดำเนินการตามรูปแบบสัญญาเดิม หลังจากนั้นคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญา ภายในเดือนตุลาคม 2564