21 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่สมาคมร้องเรียนเอาผิด คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ รฟม. ที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.63 เห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว อันเป็นข้อพิรุธที่ส่อไปในทางใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น
ล่าสุดมีบริษัทเอกชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเข้าร่วมแข่งขันประกวดราคา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และต่อมาศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค.63 ที่ผ่านมา ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จี้ ปปช.สอบ รฟม.-คณะกรรมการมาตรา 36 ปมรื้อเกณฑ์TORสายสีส้ม
14 ต.ค.นี้ รฟม.-บีทีเอส จ่อขึ้นศาล ปมแก้ทีโออาร์สายสีส้ม
เปิดศึกชิง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" วันนี้
และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้ ในชั้นนี้ศาลจึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งของศาลปกครองจึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าการใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และ รฟม. เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายความผิดหลายประการที่ส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ และที่สำคัญเป็นเหตุให้การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องล่าช้าออกไป ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้รถไฟฟ้าล่าช้าไปอีกด้วย ซึ่งมีผลมาจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 และ รฟม.ทั้งสิ้น สมาคมฯจึงนำคำสั่งศาลมามอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และทวงถามความคืบหน้าในการสอบสวนเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.ที่บังอาจกระทำการดังกล่าวด้วย นายศรีสุวรรณกล่าว