ด้านบริษัทที่ปรึกษาฯ คาด ตลาดคอนโดฯมีอ่วม ซ้ำเติมหน่วยสร้างเสร็จ 5.5. หมื่นหน่วย หวั่นบางส่วนถูกทิ้งโอนฯ ขณะ 2 ค่ายใหญ่ รอดูสถานการณ์ ผับแผน-เปิดโครงการ ประเดิมไตรมาสสุดซึม
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อแพร่กระจายทั่วประเทศมากกว่า 50 จังหวัด และแนวโน้มการควบคุมมีความยากขึ้นเรื่อยๆ
จนนำมาสู่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่แต่ละจังหวัด โดยเฉพาะกทม. และอีกราว 27 จังหวัด ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำกัดการทำกิจกรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจอีกครั้งนั้น ได้เข้ามาเป็นส่วนกดดันตลาดที่อยู่อาศัย ในระยะตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 และอย่างจบเร็วสุด คงลุกลามไปจนถึงช่วงกลางไตรมาสแรก
ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่ทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ซื้อ ต่างรอดูท่าทีในการซื้อและเปิดตัวโครงการใหม่ตามจังหวะ เผื่อผลักดันให้ภาพรวมตลาดตลอดทั้งปี กลับมาฟื้นและขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจาก ปี 2563 เผชิญกับจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดกลับมาอยู่ในความไม่แน่นอนอีกระลอก จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า ตลอดทั้งปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มอาจพลิกกลับมาเป็นบวก เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%
ภายใต้สมมุติฐานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.5-4%
แต่เนื่องจากปัจจุบัน ภายในประเทศ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการกลับมาระบาดรอบ 2 ของเชื้อโควิด -19 ซึ่งผูกโยงกับทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ (ปิดเมือง) ทำให้ธุรกิจบางประเภทต้องปิดบริการชั่วคราว ก่อหวอดภาวะรายได้ของประชาชนลดลง หรือเงินเดือนไม่มั่นคงอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย ที่จากเดิมยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
มองกรณีสถานการณ์เลวร้ายสุด ผลกระทบลากยาวเกิน 6 เดือน จนทำให้การซื้อ-ขาย ในตลาดที่อยู่อาศัยช่วงครึ่งปีแรกหยุดลง และครึ่งปีหลังไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้ ตลอดทั้งปี 2564 ตลาดอาจติดลบต่อเนื่องไปอีกราว 10% จากเดิมที่ทั้งปี 2563 มีตัวเลขติดลบเก่าอยู่แล้ว 10%
หมายความว่า โควิดระลอกใหม่ ‘อสังหาฯ’ น็อกยาวครึ่งปี
ทั้งนี้่ ทั้งทิศทางภาวะเศรษฐกิจ และตลาดที่อยู่อาศัย จะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดจะจบช้าหรือเร็ว เพื่อดึงความเชื่อมั่นทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม คงเป็นปัจจัยลบแน่นอน ที่ทำให้ตลอดทั้งปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้
“ปีที่แล้ว ภาพรวมการซื้อ-ขาย จัดอยู่ในภาวะทรงตัว จากแนวโน้มหลังเดือน ต.ค. กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น แต่ปีนี้ เผชิญปัจจัยลบตั้งแต่ต้นปี และอาจลากยาวไปจนถึงครึ่งปีแรก ทำให้กังวลว่า กำลังซื้อจะเหลืออยู่ในตลาดเท่าไหร่ เพราะการระบาดรอบแรกยังมีแรงอั้น
แต่ระลอกนี้แทบไม่เหลือแล้ว ส่วน 2 กลุ่มที่รอพึ่งพา 1.ชาวต่างชาติ 2.นักลงทุนซื้อปล่อยเช่า ต่างมีความไม่แน่นอน โดยรวมทั้งผู้ซื้อ 3 กลุ่มหลัก ชะลอทั้งหมด อาจทำให้ตลาดไม่ขยายตัวอย่างที่คิด”
ด้านบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย วิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด แสดงความกังวลว่า พิษผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกนี้ จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดคอนโดมิเนียมอีกระดับ
จากเดิมที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาส 2 ของทุกๆ ปี ก็มีความคึกคักไม่มากอยู่ก่อนแล้ว เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะให้น้ำหนักไปยังไทม์ไลน์ในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า
โดยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ยกระดับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ผู้พัฒนาฯ ต่างรอดูท่าที ไม่กล้าตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ ทำให้ภาพรวมตลาดคอนโดฯ อาจชะงักไปอีกราว 6 เดือนเต็มๆ
ประกอบกับในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พบมีจำนวนคอนโดฯที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และจดทะเบียนอาคารชุดเพิ่มขึ้นในกทม. อีกกว่า 5.5 หมื่นหน่วย ยิ่งสร้างความกังวลให้ผู้พัฒนาฯ ว่า ยูนิตที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเหล่านั้น จะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้หรือไม่ และจะเกิดการทิ้งโอนฯมากน้อยแค่ไหน
“การระบาดของโควิดระลอกนี้ เป็นปัจจัยลบที่สำคัญ ให้ผู้พัฒนาต่างกังวลกับการเปิดตัวโครงการใหม่ ยิ่งหากมีการทิ้งโอนฯ และรีเจ็กต์ (ปฎิเสธสินเชื่อ) มาก ยิ่งเป็นปัญหาให้ต้องนำหน่วยเหล่านั้นกลับมาขายใหม่อีกครั้ง นับเป็นการเพิ่มหน่วยเหลือขายในตลาดให้เพิ่มสูงขึ้นอีก”
ขณะบริษัทผู้พัฒนาฯ โครงการที่อยู่อาศัยรายใหญ่ อย่าง บริษัท โนเบิลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทอสังหาฯ ที่เปิดเผย แผนธุรกิจในปี 2564 แล้ว โดยเตรียมเปิดโครงการใหม่ในช่วงปีนี้ รวมทั้งสิ้น 11 โครงการ มูลค่าสูงถึง 45,100 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้ อยู่ในจุดเติบโต 10% ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ยอมรับ ยังไม่ได้ประเมิน แผนการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ที่เดิมตั้งเป้าไว้ เตรียมเปิด 2 โครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี
คือ โครงการ “โนเบิล ฟอร์ม ทองหล่อ” คอนโดมิเนียมหรู มูลค่าโครงการ 5,400 ล้านบาท และ โครงการ “นิว โนเบิล เซ็นเตอร์ บางนา” บนทำเลซอยบางนา-ตราด 23 ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มกลาง-ล่าง มูลค่าอีกราว 700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดยังคงแผนเดิมไปก่อน เนื่องจาก ยังคงเชื่อมั่นว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น จะมีผลพ่วงในระยะสั้นๆ คาดจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการเริ่มนำวัคซีนเข้ามาฉีดใช้ป้องกันการติดเชื้อในประเทศ เป็นต้น
ด้านบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า จากแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งปีจำนวน 24 โครงการ ซึ่งกระจายหลายจังหวัด โปรดักต์ และเซ็กเมนต์ราคา รวมมูลค่า 29,800 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ไม่มีการประเมินแผนธุรกิจใหม่จากผลกระทบดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยจะยังคงดำเนินการเปิดตามแผนเดิม และยังไม่มีการเลื่อนเปิดโครงการหลายโครงการในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 ส่วนผลกระทบทางธุรกิจ ระบุว่า ยังไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งยังสามารถเปิดขายได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม จะทำการติดตาม ประเมินสถานการณ์จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ ล้วงลึกอสังหาฯ ปี2564
7 เมกะโปรเจ็กต์ ปั่นที่ดินพุ่ง จ่อประมูลปี 64
ที่มา: หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564