7 เมกะโปรเจ็กต์  ปั่นที่ดินพุ่ง  จ่อประมูลปี 64 

07 ม.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2564 | 01:25 น.

เมืองขยายตัวไปตามเส้นทางคมนาคมไป ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูง ไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่า เมื่อความเจริญเข้าสู่พื้นที่โดยเฉพาะรถไฟทางคู่สายเหนือ ทำเลอำเภอเชียงของปลายทางราคาที่ดินขยับไปที่ไร่ละ 10-20 ล้านบาท

แม้ว่ายังไม่มีการก่อสร้างเนื่องจากนักลงทุนซื้อที่ดินพัฒนาโครงการเชื่อมโยงยังสปป.ลาว โดยเฉพาะทุนจีนสอดคล้องกับรถไฟทางคู่สายอีสานบ้านไผ่-นครพนม ดีเวลอปเปอร์ในพื้นที่ เตรียมที่ดินและพัฒนาโครงการอยู่อาศัยรอเชื่อมการเดินทางในอนาคต ซึ่งราคาที่ดิน รัศมีสถานี  มหาสารคาม ราคาที่ดินพุ่งไปที่ 15-20 ล้านบาท

 

เรียกว่า ราคาน้องๆกรุงเทพมหานครในแถบชานเมือง เพราะต้นปีนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดประมูลทางคู่ สายใหม่ 2 เส้นทาง สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 5.46 หมื่นล้านบาท และเส้นทางและเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน  7.29 หมื่นล้านบาท

 

นอกจากนี้ ความเจริญยังไปรออยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีดันราคาที่ดิน พุ่งสูงจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปั่นราคาที่ดินในจังหวัด ชลบุรี อย่างอำเภอศรีราชา พุ่งไปที่ไร่ละ 100-120 ล้านบาทโฟกัสบริเวณ เซนทรัล โรบินสันปักหมุด

 

นอกจาก นี้รฟท.ยังมีแผนสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฮสปีดดังกล่าว สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่และผู้รับเหมา ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่น้อยหน้า

 

วางแผนเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.)  วงเงินลงทุน 101,100 ล้านบาท ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ตัวผู้รับจ้างระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564

 

คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในธันวาคม 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี โดยก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2570 แต่กว่าจะเปิดให้บริการราคาที่ดินขยับไปไกลนักพัฒนาที่ดินย่อมซื้อที่ดินตุนขึ้นโครงการรับกำลังซื้อ ชานเมืองทั้งพระประแดง พระราม 2 ราคาตารางวาละไม่ต่ำ 1-2 แสนบาท 

7 เมกะโปรเจ็กต์   ปั่นที่ดินพุ่ง   จ่อประมูลปี 64 

ขณะปัจจุบันดำเนินการออกแบบรายละเอียด เตรียมจัดทำเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์)  และใช้เวลา1ปีจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสิ่งปลูกนับจากออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563

 

ส่วนผลกระทบจากการขัดขวางการเวนคืนย่อมมีทุกโครงการ เชื่อว่ารฟม.สามารถหาทางออกได้ เพราะการแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองโยใช้รถไฟฟ้าไม่สามารถรอได้อีกต่อไป สำหรับรูปแบบการลงทุน จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) เบื้องต้นศึกษาเป็นรูปแบบ PPP Gross cost ระยะเวลา 30 ปี เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ วงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งออกเป็น งานโยธาราว 77,385 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 15,913 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท 

 

มาที่หัวเมืองใหญ่ ปีนี้ มีแผนดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ-ห้าแยกฉลองระยะทาง 42 กม. วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกของโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 35,201 ล้านบาท

 

เนื่องจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดให้ปรับรูปแบบระบบการเดินรถแบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) เพื่อลดภาระต้นทุนค่าก่อสร้าง จากเดิมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปลายปี 2564 โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

7 เมกะโปรเจ็กต์   ปั่นที่ดินพุ่ง   จ่อประมูลปี 64 

เช่นเดียวกับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยืนยันเร่งรัดโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) กะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต  วงเงิน  14,000  ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา เทศบาลเมืองป่าตองร้องว่าราคาที่ดิน ไร่ละกว่า200-300ล้านบาทแล้วหากลงมือช้ากว่านี้ต้นทุนจะสูง

 

ขณะความคืบหน้ากรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการฯ แล้ว ทำให้แผนดำเนินการเสร็จเร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ เบื้องต้นกทพ.ได้ส่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

 

หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปลายปี 2564 โดยใช้รูปแบบการลงทุนพีพีพี เน็ตคอส  ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี เริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการปี 2570

 

สำหรับโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) กะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.8 กม. วงเงิน 14,000  ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างและงานระบบ 8,000 ล้านบาท  ค่าเวนคืนที่ดิน 6,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการจราจร แบ่งเป็นทางยกระดับทางขึ้น-ลง จำนวน 2 กม. และอุโมงค์ทางลอด ราว 1.8 กม.

 

โดยแบ่งทิศทางการจราจรด้านละ 2 ช่องจราจร ระหว่างจักรยานยนต์และรถ 4 ล้อ โดยมีแบบริเออร์คอนกรีตกั้นระหว่างกลาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนถนน คาดจัดเก็บค่าผ่านทางอยู่ที่ 15,40,85,125 บาท สำหรับจักรยานยนต์, รถ 4 ล้อ, รถ 6 ล้อ, รถ 10 ล้อ ขึ้นไป  ภายในปี 2570 ที่เปิดให้บริการ คาดปริมาณการจราจรอยู่ที่ 70,000 คันต่อวัน 

 

ส่วนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 ปัจจุบันกทพ.ได้เสนอไปที่กระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ตอน N 2 (เกษตร-นวมินทร์) ไปก่อน จากเดิมที่กำหนดให้โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1และ ตอน N2 ต้องดำเนินการควบคู่กันไป  เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ค้านการก่อสร้างตอน N1

 

ทั้งนี้จะเสนอคจร.ภายในเดือนมกราคม 2564 ขณะเดียวกันกทพ.ต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ใหม่ โดยใช้งบประมาณศึกษาไม่เกิน 30 ล้านบาท และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หลังจากนั้นจะเสนอต่อครม. เห็นชอบ ภายในกลางปี 2564 และเปิดประมูลภายในปี 2564 เริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2565 ใช้เวลา 3 ปี  เปิดให้บริการปี 2568

 

หากรัฐบาลสามารถรับมือกับสถาน การณ์โควิด-19 ได้ในช่วงต้นปี เชื่อว่า หลายโครงการจะเปิดประมูลได้ตามแผน!!! 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564