นับจากอดีตเป็นต้นมา ปัญหาหลักของประชาชนที่ยากจนในประเทศไทย คือ การไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของตนเอง ทำให้ต้องไปเช่าที่ดินจากนายทุน เช่าที่ดินจากรัฐ หรือแม้กระทั่งการบุกรุกที่ดินของรัฐโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ จนเกิดข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเกิดปัญหาอีกหลายด้านตามมาอีกมากมาย
ปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 65ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (พ.ศ. 2561- 2580) ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้มีการกระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรม และกระจายการถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน
ที่สำคัญนโยบายรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
เพื่อกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินของประเทศแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกัน ในการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ ที่เสื่อมโทรมและหมดสภาพแล้วได้มีสิทธิ์อยู่อาศัยทำกินได้อย่างถูกต้องตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในลักษณะแปลงรวมเป็นชุมชน เช่น สหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นการปฏิรูปรูปแบบการจัดที่ดินแบบครบวงจร และเป็นนวัตกรรมใหม่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การดำเนินการของ คทช. เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินส่งพื้นที่เป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 552 พื้นที่ 70 จังหวัด และดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่ได้ 275 พื้นที่ 65 จังหวัด จำนวน 57,105 ราย 70,542 แปลง เนื้อที่ 384,065 ไร่ และส่งให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 229 พื้นที่ 63 จังหวัด จำนวน 46,525 ราย 58,273 แปลง เนื้อที่ 306,203 ไร่ การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คณะอนุกรรมการจัดที่ดินรับมอบพื้นที่
จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน จำนวน 114 พื้นที่ 28 จังหวัด ดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่ได้ 111 พื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 16,608 ราย 19,721 แปลง เนื้อที่ 114,443 ไร่ ส่งให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 54 พื้นที่ 22 จังหวัด จำนวน 6,705 ราย 8,226 แปลง เนื้อที่ 44,736 ไร่ สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คทช. มีเป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 11,900 แปลง
นี่คืออีกหนึ่งของนวัตกรรมทางการบริหารซึ่งเป็นความสำเร็จของ คทช. ที่ทำให้ประชาชนยิ้มได้ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะ ในด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร โดยเป็นการปฏิรูปกระบวนการและสร้างนวัตกรรมในการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งครอบครองทำกินในที่ดินของรัฐในที่ดินประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่ ส.ป.ก. ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุและที่ดินนิคมสร้างตนเองที่เสื่อมโทรมหมดสภาพ
ให้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ โดยให้สิทธิในลักษณะแปลงรวมเป็นชุมชนเพื่อรวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นและเกิดความมั่นคงในการดำรงชีพอย่างยั่งยืน