"สามารถ"จี้กทม. ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า 65 บาท ได้มั้ย?      

18 ม.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2564 | 01:18 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ จี้กทม. หาทางออกเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ได้หรือไม่ กระทรวงคมนาคมประกาศก้องว่าจะทำให้ค่าโดยสารถูกกว่า 65 บาท จะทำได้จริงหรือไม่?

 

 

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าเป็นที่ตกอกตกใจไปตามๆ กัน เมื่อ กทม.จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท จากเดิมที่คนกรุงคาดหวังว่าจะจ่ายไม่เกิน 65 บาท กระทรวงคมนาคมประกาศก้องว่าจะทำให้ค่าโดยสารถูกกว่า 65 บาท จะทำได้จริงหรือไม่?

 

เมื่อเร็วๆ นี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลังจากเปิดเดินรถเต็มระบบเป็นสูงสุด 104 บาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป จากเดิมที่ กทม.ตั้งใจว่าจะเก็บไม่เกิน 65 บาท ในกรณีมีการขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ออกไป 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยบีทีเอสจะต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ กทม. เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท และจะต้องจ่ายหนี้แทน กทม.ประมาณ 68,000 ล้านบาท อีกทั้ง จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 65 บาท ลดลงจากเดิมซึ่งมีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท

 

\"สามารถ\"จี้กทม. ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า 65 บาท ได้มั้ย?      

 

 

พลันที่ กทม.ประกาศใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ กระทรวงคมนาคมออกโรงเบรก กทม. ขอให้ กทม.ชะลอการปรับค่าโดยสารออกไปก่อน พร้อมบอกว่าจะหาทางทำให้ค่าโดยสารถูกกว่า 65 บาท หรือไม่เกิน 42 บาท เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีม่วง

 

กระทรวงคมนาคมได้เสนอแนวทางที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง โดยยกตัวอย่าง การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพยุงอัตราค่าโดยสาร และนำรายได้ในอนาคตมาชำระคืนกองทุนภายหลัง แต่ผมมีความเห็นว่าแนวทางนี้จะไม่มีนักลงทุนสนใจมาลงทุน เพราะในช่วงจากนี้ไปจนถึงปี 2572 หรือระยะเวลาก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน นักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเนื่องจาก กทม.ขาดสภาพคล่อง

 

 

ส่วนการทำให้ค่าโดยสารเท่ากับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสีม่วงซึ่งมีค่าโดยสารสูงสุด 42 บาทนั้นเป็นไปได้ถ้ารัฐบาลรับภาระหนี้แทน กทม. ประมาณ 68,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องชำระภายในปี 2572 เหตุที่ค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเท่ากับ 42 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเพราะบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไม่ต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการ และไม่ต้องจ่ายหนี้แทน รฟม.

 

 

 

ส่วนค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่ากับ 42 บาท เช่นเดียวกันนั้น ที่ทำได้เช่นนี้เพราะ รฟม.ลงทุนเองทั้งหมดแล้วจ้างให้บีอีเอ็มเป็นผู้เดินรถ บีอีเอ็มไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินแทน รฟม. และที่สำคัญ รายได้จากค่าโดยสารทั้งหมดเป็นของ รฟม. จึงทำให้ รฟม.สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้อย่างอิสระแต่อย่างไรก็ตาม การเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินซึ่งเป็นโครงการของ รฟม. ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม โดยปกติผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าโดยสารสูงสุด 84 บาท (สายสีม่วง 42 บาท + สามสีน้ำเงิน 42 บาท)

 

แต่ รฟม. รับผิดชอบค่าแรกเข้า 14 บาท แทนผู้โดยสาร จึงทำให้ค่าโดยสารสูงสุดลดลงเหลือ 70 บาท (84-14) ซึ่งเป็นค่าโดยสารบนระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร (สายสีม่วง 23 กิโลเมตร + สายสีน้ำเงิน 26 กิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท สามารถเดินทางได้ประมาณ 55 กิโลเมตร จะเห็นได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า

 

 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า 65 บาท ซึ่งสามารถทำได้ในกรณีดังนี้

1. รัฐบาลรับภาระหนี้ประมาณ 68,000 ล้านบาท แทน กทม. หรือ

2. กทม.รับผลตอบแทนจากบีทีเอสลดลงเหลือน้อยกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินไปช่วยจุนเจือค่าโดยสาร

เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ให้จ่ายค่าโดยสารแพง ผมขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมเร่งหารือกับกระทรวงมหาดไทยและ กทม. ตามข้อทักท้วงของกระทรวงคมนาคมซึ่งเดิมมี 4 ข้อ ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยและ กทม.ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว หลังจากนั้นมีข้อทักท้วงเพิ่มเติมขึ้นอีก 9 ข้อ

 

หากทุกฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง ผมมั่นใจว่าจะสามารถเคลียร์ข้อทักท้วงได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ผมขอเรียกร้องให้ท่านนายกฯ พิจารณานำเรื่องการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยด่วน ซึ่งควรเป็นก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 หาก ครม.ให้ความเห็นชอบ จะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่ากับ 65 บาท หรืออาจจะต่ำกว่าก็ได้หากรัฐบาลรับภาระหนี้แทน กทม. หรือ กทม.รับผลตอบแทนน้อยลง

 

ถ้าทำได้เช่นนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป พี่น้องประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท แต่ถ้า ครม.ไม่เห็นชอบ ค่าโดยสารสูงสุดอาจจะพุ่งขึ้นเป็น 158 บาท ไม่ใช่ 104 บาท ตามที่ กทม.เพิ่งประกาศใช้ เพราะเป็นอัตราชั่วคราวที่ใช้ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้นทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมขนส่งทางราง ซัดกทม. ค่าโดยสารสายสีเขียว สร้างภาระ ประชาชน

คมนาคม หัก กทม.ชะลอขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว104บาท

เคาะแล้ว! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บ 16 ก.พ.

คนกรุง เตรียมตัว ให้พร้อมอีก1เดือน จ่ายค่าตั๋วรถไฟฟ้า สายสีเขียว104บาท

ผู้ว่ากทม.ออกประกาศ ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสาย สีเขียวทุกเส้นทาง เริ่มใช้ 16 ก.พ.64