ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา (โคราช)-หนองคาย ระยะทางราว 356 กิโลเมตร วงเงินลงทุน ราว 2.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2564 หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน กรกฎาคม-กันยายน ทั้งนี้ รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า ขั้นตอนจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2564 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 ใช้เวลาในการก่อสร้างงานโยธา 3 ปี และใช้เวลาในการติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณอีก 3 ปี โดยจะเปิดให้บริการได้ในปี 2572
“สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินนั้นมีไม่มากนัก จากการสำรวจเบื้องต้นจะกระทบต่อที่อยู่อาศัยประชาชน 19 อําเภอ ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าส่วนใหญ่มีผลกระทบอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง”
ส่วนผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการว่า เฉพาะช่วงโคราช-หนองคาย พบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR)อยู่ที่ 11.25% ขณะที่ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ตลอดเส้นทาง รวมทั้ง 2 เฟส คือกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย มี อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 12.10%
สำหรับแนวเส้นทางนั้น แบ่งออกเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร มีจำนวรวมทั้งสิ้น 5 สถานี คือ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบํารุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สถานีนาทา จ.หนองคาย โดยรถสามารถ ใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง จากกรุงเทพฯไปยังหนองคาย ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
รายงานข่าวจาก รฟท. กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) จำนวน 14 สัญญา วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลืออีก 7 สัญญาที่คาดว่าจะสามารถลงนามกับบริษัทคู่สัญญาใน 6 สัญญา วงเงินรวมกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประกอบด้วย สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง - นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 8.6 พันล้านบาท, สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร - บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท, สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6.5 พันล้านบาท, สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.30กม. วงเงิน 9.9 พันล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว - สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9.4 พันล้านบาท
ขณะที่อีก 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีโครงสร้างร่วมที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการว่าต้องเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้สำหรับ 5 สัญญาที่ รฟท. ดำเนินการลงนามกับบริษัทคู่สัญญาในช่วงที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเข้าพื้นที่ ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์ ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ดำเนินการโดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ในงานอุโมงค์ คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ประมาณเดือน เม.ย.64, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง โดยบริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ระยะทาง 26.10 กม. คาดว่า รฟท.จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ได้ในวันที่ 19 ก.พ.64
ส่วนสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระยะทาง 37.45 กม. และสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา โดยบริษัท กิจการร่วมค้าเอสพีทีเค จำกัด ประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัทบิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ระยะทาง 12.38 กม คาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้ในวันที่ 26 มกราคมนี้ ด้านสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย โดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ระยะทาง 12.99 กม. ทาง รฟท. กำลังพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายอยู่ว่าจะให้สามารถปฏิเสธได้หรือไม่ คาดว่าจะออก NTP วันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้รับจ้างจะขอปฏิเสธรับ NTP เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ อาจจะส่งผลกระทบกับงานก่อสร้างได้
ทั้งนี้สัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ดำเนินการโดยกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริง จำกัด มีความคืบหน้าก่อสร้างประมาณ 47.23% ล่าช้ากว่าแผนพอสมควร เนื่องจากติดปัญหาการเข้าพื้นที่ และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค รวมทั้งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง