กรมทางหลวงชนบท(ทช.) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรและแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ ล่าสุด นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทช. มีแผนที่จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการเส้นทางถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” เป็นเส้นทางเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร (กม.) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อจะได้เกิดการบูรณาการทางความคิดและใช้เป็นหลักในการออกแบบรายละเอียดต่อไป
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะแบ่งระยะเวลาดำเนินการสำรวจออกแบบเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงมุกดาหาร-อุบลราชธานี ระยะทาง 40 กม. เบื้องต้นจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565 วงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ในระยะ 6 กม.แรก ซึ่งจะทยอยก่อสร้างเป็นตอนๆ หลังจากนั้นจะขอรับจัดสรรงบประมาณอีกครั้งในปีถัดไป ระยะที่ 2 ช่วงนครพนม-บึงกาฬ ทั้งนี้ทช.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติม โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงมุกดาหาร-อุบลราชธานี ระยะทาง 40 กม. ในปี 2565 เป็นต้นไป
“หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 แล้ว จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในปลายปี 2564 จะเริ่มลงนามสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 เบื้องต้นทช.มีแนวคิดจะดำเนินการบนถนนเส้นเดิม แต่ปรับปรุงให้เป็นถนนเชิงท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีบางช่วงที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากบางพื้นที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในโบราณสถาน ทำให้ต้องดำเนินการตัดถนนใหม่ ในปัจจุบันทช.พยายามไม่ทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อให้โครงการฯ ดำเนินการได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันหากมีความจำเป็นอาจมีพื้นที่บางส่วนที่ต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน”
รายงานข่าวจากทช.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทช.ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อโครงการฯดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ให้มีโครงการฯ เพราะเป็นโครงการที่มีเส้นทางสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกันที่ทช.ดำเนินการก่อสร่างช่วงดังกล่าวก่อน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีความงามของทัศนียภาพของแม่น้ำโขง หาดทรายน้ำจืด และเกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งความสวยงามของศาสนสถานของศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าค้นหา
สำหรับรูปแบบรูปแบบก่อสร้างเป็นถนนขนาด 2 ช่องไป-กลับ มีไหล่ทาง ผิวทางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต รวมทั้งงานติดตั้งไฟส่องสว่าง และป้ายจราจรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ในอนาคตทช.มีแผนจะขยายผลพัฒนาถนนทองเที่ยว ช่วงสระแก้ว-ปราจีนบุรี-นครนายก ระยะทาง 80 กม.เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยทช.จะดำเนินการสำรวจออกแบบของแนวเส้นทางที่พัฒนา เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 โดยจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและลงนามสัญญาภายในเดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566 หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง