รายงาน /อนัญญา จั่นมาลี
ล่าสุดภาครัฐมีนโยบายต้องการให้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเร็วขึ้นเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งระบบ สำหรับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 268.8 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 207 สถานี แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารแต่ละสายกลับไม่เท่ากัน เนื่องจากการพิจารณาคำนวณอัตราค่าโดยสารมาจากสมมุติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2%ต่อปี พฤติกรรมของผู้บริโภค และระยะทางการเดินทางของผู้โดยสาร แต่ปัจจุบันยังเป็นข้อถกเถียงถึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบางสายที่มีราคาสูงและไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน ทำให้หลายหน่วยงานคัดค้านบางโครการด้วยเช่นกัน
“ฐานเศรษฐกิจ”รวบรวมอัตราค่าโดยสารแต่ละสายในปัจจุบัน ดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 38 สถานี ประกอบไปด้วย ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร (กม.) จำนวน18 สถานี ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 11 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งผสมทั้งใต้ดินและยกระดับ ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 -42 บาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 - 42 บาท หากผู้โดยสารต้องการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน จะจ่ายค่าโดยสารร่วมสูงสุดเพียง 48 บาท เดินทางได้ถึง 53 สถานี จากอัตราค่าโดยสารร่วมปกติคือ จ่ายสูงสุดไม่เกิน 70 บาท
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสถานีคูคต-เคหะสมุทรปราการ รวมระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 59 สถานี ประกอบด้วย ช่วงสัมปทานของ BTS สถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน ค่าโดยสาร 16-44 บาท ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร 15-45 บาท ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ 15-45 บาท ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า 15-33 บาท ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่กระทรวงคมนาคมคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานโครงการฯ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อแลกกับอัตราค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสาย โดยล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้รับผิดชอบรับการโอนโครงการฯ จากการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราว อยู่ที่ 104 บาท เนื่องจากกทม.มีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ต่อปี เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 ส่งผลให้มีผลขาดทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ทำให้กทม.กำหนดอัตราค่าโดยสารดังกล่าวชั่วคราว โดยจะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้นไป
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ล่าสุดนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เบื้องต้นทางรฟม.จะกำหนดอัตราค่าโดยสารของโครงการดังกล่าวเมื่อเปิดให้บริการในปี 2567 อยู่ที่ 15-45 บาท เฉลี่ย 2.50 บาทต่อสถานี เนื่องจากรฟม.ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพและประชาชนรับได้
“ขณะเดียวกันกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ชะลอการประมูลโครงการฯนั้น หากกระบวนการไต่สวนของศาลปกครองสูงสุดแล้วเสร็จ หลังจากนั้นใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะได้ผู้ชนะการประมูล และยืนยันว่าจะเปิดให้บริการตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะใช้ระยะเวลาน้อยกว่าที่คาด หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลเราจะเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลโดยยึดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น”
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตรฟม.จะกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 30 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 23 สถานี อยู่ที่ 15-45 บาท เฉลี่ย 2-3 บาทต่อสถานี ซึ่งทั้ง 2 สาย จะเปิดให้บริการภายในต้นปี 2565 ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารทั้ง 2 สาย จะอ้างอิงตามมาตรฐานของรฟม. ซึ่งปรับอัตราอ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีเจตนารมณ์ให้โครงการรถไฟฟ้าของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี – สถานีคลองสาน ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 3 สถานี อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ที่เพิ่งเปิดให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ปิดท้ายด้วยโครงการ รถไฟสายสีแดง หรือ รถไฟฟ้าชานเมือง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 10 สถานี เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 14- 42 บาท ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 14 – 42บาท บาท โดยจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดให้ รฟท.ทดสอบระบบเดินรถไฟสายสีแดง เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างปลอดภัย
คงต้องจับตาดูว่าในอนาคตอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าแต่ละสายอาจถูกลงหรือแพงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ที่มา : หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปิดหัวลำโพง “สายสีแดง” พร้อม เดินรถ
เปิดศึก “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กทม.ฟาด คมนาคม ร่อนหนังสือ 2 ประเด็น เคาะต่อสัมปทานร่วมทุน
ผู้โดยสารเฮ! รฟม. ลดค่าตั๋วสายสีส้ม เหลือ 15-45 บาท