ฐาปนา บุณยประวิตร
นายกสมาคมการผังเมืองไทย
และเลขานุการกฎบัตรไทย
ฝั่งตะวันตกของไทยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก ทั้งความสมบูรณ์ของทรัพยากร แหล่งน้ำ รวมทั้งความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งและการเชื่อมต่อ หากได้รับการวางแผนการลงทุนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเพียงพอ ประเทศจะได้รับผลตอบแทนด้านมูลค่าและโอกาสของความมั่งคั่งไม่แพ้พื้นที่ฝั่งตะวันออก
ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกแบ่งตามโครงสร้างภูมิศาสตร์ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นระเบียงเศรษฐกิจตอนบน นับจากจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ระเบียงที่สองเป็นระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง นับจากจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ลงไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (บางสำนักให้ระเบียงนี้ต่อยาวลงไปถึงจังหวัดชุมพร) กลุ่มระเบียงนี้มีความสัมพันธ์ทางกายภาพและตำแหน่งที่ตั้งกับพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์และกลุ่มประเทศอินเดียใต้
แม้แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดให้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียม แต่ตามข้อเท็จจริง ยังพบปริมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
หากลองย้อนไปเปรียบเทียบมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคนในปี 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานมูลค่าที่ได้ซึ่งแตกต่างกันมากระหว่างพื้นที่สองระเบียง คิดเฉพาะมูลค่าของจังหวัดระยองจะสูงถึง 1,235,695 บาท ชลบุรีที่ 522,511 บาทหรือจังหวัดตราดที่เป็นจังหวัดขนาดเล็กที่ 157,494 บาท เทียบกับบางจังหวัดของระเบียงตะวันตกตอนล่าง เช่น จังกหวัดราชบุรีที่นับว่ามีมูลค่าผลิตภัณฑ์ต่อคนสูงที่ 154,749 บาท ประจวบคีรีขันธ์121,705 บาท และจังหวัดเพชรบุรี 109,664 บาท นี่คือกลุ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคนที่มากกว่าหนึ่งแสนบาท ไม่รวมจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งผลิตมูลค่าต่ำสุดในระเบียงตะวันตกตอนล่างที่ 76,549 บาท
หากนำมาเทียบกับมูลค่าจากจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกตอนบนจะพบค่าที่ต่ำเกาะกลุ่มกันของจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี อ่างทอง ชัยนาท และจังหวัดตากที่ 76,509, 74,387, 73,800, 71,934 และ 64,610 บาทตามลำดับ
มูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคนที่กล่าวมานั้น แม้ได้หยิบยกมาเพียงปัจจัยเดียว แต่ตัวเลขที่แสดงได้สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการปรับปรุงแผนการลงทุนในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานคุณภาพ ซึ่งนับเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก
โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการเศรษฐกิจ และนับเป็นความเร่งด่วนของระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ได้แก่ การพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจในระดับเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง
การพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจระดับเมืองของระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก หากพิจารณาตามเกณฑ์การออกแบบเมืองเศรษฐกิจของการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) ศูนย์เศรษฐกิจเกือบทั้งหมดในระเบียงนี้ มีขนาดพื้นที่และประชากรน้อยเกินไป หรือประชากรหนึ่งศูนย์ต่ำกว่า 3 แสนคน ซึ่งเป็นปัจจัยลดแรงจูงใจในการลงทุนระบบขนส่งมวลชนและการลงทุนทางเศรษฐกิจ ในการวางแผนการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดได้เสนอให้ เริ่มปรับเปลี่ยนจากปัจจัยการวางแผนยุทธศาสตร์เมืองด้านรูปแบบทางกายภาพและการสร้างกลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนประชากรให้สอดคล้องกับการลงทุนทางเศรษฐกิจที่กำหนดในอนาคต ปัจจัยต่อมา ได้แก่ การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ใจกลางของศูนย์หรือในขอบเขตของศูนย์ โดยพิจารณาปัจจัยการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จูงใจให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีความสัมพันธ์กัน หรือการลงทุนในกิจกรรมที่สอดคล้องกับทรัพยากร นอกจากนั้น ให้พิจารณาปัจจัยด้านการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยสร้างระบบสิทธิประโยชน์ที่ตอบสนองต่อผู้ประกอบการนวัตกรรมและผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นหลัก
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจนอกจากจะมีจำนวนประชากรมากเพียงพอและมีกิจกรรมเศรษฐกิจที่หลากหลายแล้ว แผนยุทธศาสตร์ระดับเมืองและระดับภาคจะต้องวางระบบเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ โดยปัจจัยด้านการเชื่อมโยงนั้น มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัจจัยความสามารถการเข้าถึงทางกายภาพและความสามารถการเข้าถึงทางเศรษฐกิจ
โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง เป็นการคมนาคมขนส่งซึ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ด้วยพบว่า พื้นที่ตอนกลางของระเบียงนับจากจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ปัจจุบันขาดแคลนระบบการขนส่งทางรางอย่างหนัก พื้นที่ขาดแรงจูงใจด้านการลงทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ขาดโอกาสการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง ขาดโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจที่อาศัยระบบการขนส่งต้นทุนต่ำ และขาดโอกาสในการเพิ่มจำนวนกิจกรรมเศรษฐกิจที่หลากหลายให้กับเมือง อันส่งผลให้ขาดศักยภาพในการเพิ่มจำนวนประชากรภายในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ
โครงสร้างพื้นฐานการเดินทางและการขนส่งทางอากาศ กล่าวได้ว่า พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกยกเว้นจังหวัดตาก ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศอย่างหนักเช่นเดียวกับการขนส่งทางราง ปัจจุบันไม่พบแผนการพัฒนาท่าอากาศยานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ระเบียงตอนล่างและตอนกลาง สำหรับท่าอากาศยานนครปฐม ซึ่งที่ปรึกษาออกแบบวิศวกรรมแจ้งว่าจะสามารถอุดช่องโหว่การขาดแคลนท่าอากาศยานในพื้นที่ระเบียงด้านตะวันตกนั้น จากข้อเท็จจริง ท่าอากาศยานนครปฐมขาดความสัมพันธ์ทางกายภาพและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกน้อย ทั้งด้านตำแหน่งที่ตั้งและระบบการเชื่อมต่อ
กล่าวโดยสรุป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ควรพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกเสียใหม่ โดยคำนึงถึงโอกาสการยกระดับความสามารถของพื้นที่ในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศเอเซียใต้ ด้วยการสร้างดุลอำนาจโดยโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง พร้อมเร่งรัดการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงให้ได้มาตรฐานทางกายภาพ สร้างแรงดูงดูด สร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลายให้กับประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคนให้สูงขึ้นเพื่อสะท้อนถึงสมรรถนะและความเชี่ยวชาญในการผลิตของประชากรบนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก
ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564