เพียงระยะทางสั้นๆ 2.8กิโลเมตร สำหรับ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วง ศรีรัช-เมืองทองธานี แต่ศักยภาพสามารถดึงคนเข้าระบบมาก เรือนหมื่นหรือ เป้าหมาย 13,785 คนเที่ยว/วันเนื่องจาก บริเวณที่รถไฟฟ้าเลี้ยวเข้าไปเชื่อมต่อเป็นชุมชนขนาดใหญ่ “เมืองทองธานี” โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมขนาดใหญ่บริเวณโดยรอบของทางแยกต่างระดับแจ้งวัฒนะ ในพื้นที่ตำบลคลองเกลือ ตำบลบางพูด และตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อาณาจักร ในเครือบริษัทบางกอกแลนด์จำกัด(มหาชน) เนื้อที่กว้างใหญ่กว่า 4,000 ไร่
นอกจากคนอยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นทั้งคอนโดมิเนียม บ้านอยู่อาศัยแล้ว อาณาจักรแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของผู้คน จำนวนมาก ทั้งร้านค้า โรงแรม สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย วัดวาอาราม ตลอดการจัดแสดงสินค้า การแสดง โชว์ การแข่งขันกีฬา กิจกรรมต่างๆหลากหลาย โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ปกติหากไม่มีโควิด-19ระบาด จะมีคนอยู่ในพื้นที่ นับแสนคน ส่งผลให้พื้นที่ แออัด การจราจรติดขัดตั้งแต่ภายในพื้นที่ ลุกลามถนนสายหลัก กลายเป็นอัมพาตทั่วกรุงช่วงที่มีการจัดงาน
อนาคตหากมีเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีชมพู เปิดให้บริการในปี2567 เชื่อมโยงกับ สายสีชมพู เส้นทางหลัก(แคราย-มีนบุรี) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้ว จะเพิ่มทางเลือก ให้กับการเดินทางได้มาก ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดมลพิษทางอากาศ ลดพลังงานเชื้อเพลิง
ล่าสุดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึงนี้ จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้าง รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วง สถานีศรีรัช-เมืองทอง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จะลงนามในสัญญา กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ของกลุ่มกิจการร่วมค้าBRSประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือBTSC ,บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSTEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือRATCH ผู้รับสัมปทาน มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หลัง คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและการก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้การบริการเดินรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทอง เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีระยะทาง 2.8 กม. 2 สถานี วงเงินลงทุน 4,230 ล้านบาท จุดเริ่มต้นอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช (PK-10) ของโครงการส่วนหลัก ก่อนเลี้ยวขวาเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ที่ตั้งของสถานี MT-02 ระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน เปิดให้บริการเดือน ก.ย.67 ประมาณการผู้โดยสารปีที่เปิดให้บริการ 13,785 คน-เที่ยว/วัน ทั้งนี้เมื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดสาย รวมส่วนต่อขยายจะมีค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
.ต่อขยายสายสีเขียว ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ฟรี 25 สถานี
.ครม.เห็นชอบ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ส่วนต่อขยายเลี้ยวเข้าเมืองทองธานี