เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 นายพิทยา พรโพธิ์ รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) พร้อมสมาชิก ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีนายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการการ กลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลและพิสูจน์หลักฐานเบื้องต้นเป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอทราบความคืบหน้า ในการตรวจสอบเอาผิดผู้บริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการมาตรา 36)
เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อทุจริต เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย โดยการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก ภายหลังการปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว นายพิทยา กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ทางเครือข่าย ส.ท.ช. ได้เคยยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเอาผิดฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกที่มีพฤติกรรมส่อในทางทุจริตมาแล้ว ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2563 ผ่านมากว่า 5 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้า จึงได้มาตามเรื่อง
ล่าสุด ได้รับรายงานว่า ทาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ได้ถูกบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีมีการแก้ไขเอกสารประกวดราคา และเกณฑ์พิจารณาคัดเบลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งในคำบรรยายฟ้องของ BTS นั้น สอดคล้องกับพฤติการณ์ที่ เครือข่าย ส.ท.ช. ได้เคยยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ได้ลงมาตรวจสอบก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งยังได้รับรายงานว่า รฟม. ได้สั่งล้มการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ไปแล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ที่ผ่านมา
หลังจากไม่สามารถ รอฟังคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลาง และ ศาลปกครองสูงสุด ต่อกรณีที่ รฟม. และ คณะกรรมการคัดเลือกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาล มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ ศาลปกครองกลาง ที่ให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่เอาไว้ จนกว่า ศาล จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอื่นใด รฟม. จึงตัดสินใจล้มการประมูลเดิม และจะเร่งจัดประมูลใหม่ โดยปัดฝุ่น นำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ ที่มีปัญหากลับมาดำเนินการอีกครั้ง
การที่ รฟม. สั่งยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และล่าสุด ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำเงื่อนไขการประมูล( RFP )รอบใหม่ โดยอ้างว่า มีอำนาจดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากต้นสังกัด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย และน่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐเอกชน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ.2563 ซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า
ยังคงมีความพยายามที่จะจัดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ยังคงมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเกณฑ์ที่ถูกตั้งข้อกังขาว่า เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ เครือข่าย ส.ท.ช. จึงได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าต่อสิ่งที่ได้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ก่อนหน้าว่า มีการดำเนินการตรวจสอบไปถึงไหนแล้ว เพราะหากปล่อยให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการต่อไป โดยปราศจากความชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ย่อมกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ในอนาคตตามมา จึงต้องการให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เร่งรัดตรวจสอบเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น และเอาผิดกับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับความพยายามเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าจาก ป.ป.ช.แล้วยังได้ทวงถามความคืบหน้าการตรวจสอบคดีเดียวกันนี้จาก คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) อีกด้วย
“ไม่อยากเห็น ป.ป.ช. ไต่สวนคดีนี้แบบอ้อยอิ่ง หรือเจริญรอยตามคดีอื้อฉาวอื่นๆ อย่างการไต่สวนคดีเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 ที่ตรวจสอบมากว่า 8 -9 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเลย”