ตลาดอสังหาริมทรัพย์พอจะขยับขายได้เพียงเดือนเดียวคือมีนาคม 2564 กลับต้องหยุดชะงักอีกครั้งเมื่อ โควิดกลับมาระบาดระลอก 3 จากคลัสเตอร์ใหญ่สถานบันเทิงในเขตกรุงเทพมหานคร บ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายว่า ธุรกิจนี้ยังคงตกอยู่ในความดำมืดหาแสงสว่างรำไรยังไม่พบ เมื่อเทียบกับสต๊อกกองมหึมาเฉพาะ ครึ่งปีแรก 2563 (กทม.-ปริมณฑล) ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เก็บสถิติ 173,093 หน่วย มูลค่า 879,630 ล้านบาทยังไม่รวมครึ่งปีหลังปี 2563 ยาวมาถึงปัจจุบันที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและส่งมอบอาคารตลอดถึงโครงการที่เปิดตัวใหม่ประเมินว่า มีมากกว่า3แสนหน่วยมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท และเป็นไปได้ว่า ความรุนแรงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 นับตั้งแต่เดือนเมษายน อาจจะซํ้ารอยไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 โควิด ระบาดรอบแรก ที่ดีเวลอปเปอร์หลายรายกังวลซึ่งไม่เกินความจริงนักเพราะล่าสุดเริ่มมีปรากฏการณ์ลูกค้าขอชะลอโอนกรรมสิทธิ์ ไปจนถึงขอยกเลิกการโอนฯ การเยี่ยมชมโครงการเงียบสงัด โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมขณะผู้ประกอบการสายป่านสั้น สร้างโครงการทิ้งค้างมีให้เห็นมากพอสมควร ต่างหัวเมืองท่องเที่ยว และจะมากขึ้นหากรัฐบาลสกัดการลุกลามไม่ได้
หากย้อนไปในช่วงการระบาดรอบ ปี2563 ดีเวลอปเปอร์ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว คอนโดมิเนียม ไม่ตํ่ากว่า 6 หมื่นหน่วยในกทม. แทบลุกเป็นไฟ การประกาศเลหลังขายโครงการเพื่อระบายของร้อนในมือราคาตํ่าตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 50% กระหึ่มขึ้นในย่านกลางเมืองแนวเส้นทางรถไฟฟ้าไม่เลือกว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือค่ายใหญ่ แคมเปญสารพัดชนิดปรากฏขึ้นโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เรียกว่าดั๊มราคาขายตํ่า ครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับจากปี 2555 ที่เกิดความนิยมที่อยู่อาศัยแนวสูง หลังนํ้าท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และที่สร้างความฮือฮาคือแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน” ได้จุดประกายให้ค่ายอื่นเดินรอยตาม แม้จะเข้าเนื้อแต่มองว่าดีกว่าปล่อยให้ยืนต้นตายและแคมเปญดังกล่าวยังถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการระบาดระลอก 3 แม้นักวิชาการ กูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสถาบันการเงินจะออกมาระบุว่า บ้านแนวราบระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ตลอดจนคอนโดมิเนียมหรูแพงระยับ ยังไปได้ เป็นทางออกที่ดีสำหรับดีเวลอปเปอร์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นจริงตามนั้นเสมอไปเพราะระดับเศรษฐีคนมีเงินย่อมเห็นคุณค่าของเงินและต้องเก็บออมชะลอการลงทุนดูสถานการณ์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต่างชาติ ที่หากเปิดประเทศแล้ว จะเข้ามาซื้ออสังหาฯ ไทยมองว่า ไม่อึกกระทึกเหมือน 4-5 ปีก่อน แม้ต้องการลงทุนและเข้ามาอยู่ในอาศัยในไทยเพราะอย่าลืมทั่วโลกเศรษฐกิจถดถอยคนกลุ่มนั้นต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเช่นเดียวกันอีกทั้งนโยบาย การไม่อนุญาตให้พลเมืองของเข้าออกนอกประเทศเพราะเกรงว่าหากเดินทางกลับแล้วจะนำเชื้อโรคติดมาด้วยแม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม
เช่นเดียวกับความไม่คาดหวังของ ผู้ประกอบการ ที่นโยบายรัฐบาล อ้าแขนรับต่างชาติเข้าไทย นำร่อง 6 จังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ ไตรมาส 2 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มีเงื่อนไขสนับสนุนว่า ต่างชาติที่เข้ามาต้อง ผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม จะกักตัว 7 วัน กรณีฉีดเข็มเดียวกักตัว 10 วัน ในพื้นที่ที่ กำหนดเช่นเขตโรงแรม หากครบกำหนดให้ออกไปเที่ยวได้ทั่วประเทศ และ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 จะนำร่องจังหวัดภูเก็ต ต่างชาติเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับรายที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว ขณะคนในพื้นที่อย่างภูเก็ต 70% ต้องฉีดวัคซีน ให้ครบ 2 เข็ม ด้วยเช่นเดียวกัน หากทดลองกับ ภูเก็ตสำเร็จ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะขยายโซนไปยัง5จังหวัด กรณีทุกอย่างราบรื่น วันที่ 1 มกราคม 2565 จะขยายออกไปทั่วประเทศนั้น
เรื่องนี้นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า ความหวังพึ่งพาต่างชาติเข้ามาจับจ่ายและซื้ออสังหาฯ ในไทยมีเปอร์เซ็นต์น้อย เช่นเดียวกับวัคซีนภายในประเทศที่ได้มากไม่มากและช้า ทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่น ท่ามกลางการลุกลามโควิดรอบ 3 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมสั่นคอน สำหรับทางออก ผู้ประกอบการต้องชะลอลงทุน เก็บเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุด เร่งระบาย-ขาย-โอน เพราะดอกเบี้ยเดินทุนนาที ที่สำคัญตราบใดประเทศไทยยังมีการระบาดไม่หยุดหย่อน เชื่อได้ว่าต่างชาติไม่กล้าเข้ามาเสี่ยง เช่นกันเพราะประเทศไทยไม่มีอีกแล้วสำหรับ “สวรรค์แห่งความปลอดภัย” ในทางตรงกันข้ามเขามองหาประเทศปลอดภัยพำนักมากกว่า
สำหรับทางออก รัฐบาลต้องระงับการระบาดรอบนี้ให้อยู่หมัด “เจ็บแต่จบ” เหมือนคุมโควิดรอบแรก เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกธุรกิจจะตกอยู่ในวังวนความดำมืดต่อไป ไม่ใช่เฉพาะอสังหาฯเท่านั้น!!!
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง