ผ่าอาณาจักรแสนล้าน ‘แสนสิริ’ ไล่ช็อปอสังหาฯยันโทเคน

20 พ.ค. 2564 | 19:10 น.

บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทย ที่นอกจากจะประสบความสำเร็จพัฒนาที่อยู่อาศัยมียอดขายกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี มากว่า 36 ปี แล้ว  หากจำกันได้ในปี 2551 แสนสิริ ขยายการลงทุนไปยังต่างแดนซื้ออาพาร์ทเมนต์ ใจกลางมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ช่วงจังหวะในขณะนั้นอังกฤษประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำฉุดให้ราคาอสังหาฯปรับตัวลดลง 10-15% รวมถึงเงินปอนด์อ่อนค่า โดยใช้เวลาปรับปรุง และเริ่มเปิดขายปลายปี 2561 ภายใต้ชื่อ ‘9 Elvaston Place’ ตั้งอยู่บนทำเลย่านเศรษฐกิจชื่อดัง “เซาท์เคนซิงตัน” เจาะลูกค้าเป้าหมายผู้ปกครองชาวไทยที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาโดย เคาะราคาห้องละ 100 ล้านบาทหรือตารางเมตรละ 1.2 ล้านบาทอีกทั้งยังมีเป้าหมายขยายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ต่อเนื่องในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม แสนสิริ มักสร้างปรากฏการณ์ให้โลกจดจำถึงความเป็นที่สุด อยู่เสมอ โดยเปิดตัวโครงการ  98 ไวร์เลส ย่านธุรกิจถนนวิทยุ มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท เมื่อ 4-5 ปีก่อน ด้วยราคา ขายต่อตารางเมตร 600,000 บาท สุงสุด 900,000 บาทต่อตารางเมตร ออกแบบสถาปัตยกรรมรับแรงบันดาลใจจากอาคารทรงคลาสสิกในยุโรปและอเมริการวมทั้งสร้างนิวไฮซื้อที่ดินในราคาสูงที่สุดของประเทศ 3.9 ล้านบาทต่อตารางวาทำเลหัวมุมถนนสารสิน ใกล้สวนลุมพินีเขตปทุมวันท้าทายการระบาดโควิด และยังสร้างประวัติศาสตร์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2563 ทะลุ 45,000 ล้านบาท ทุบทุกสถิติการโอนสูงสุดที่เคยทำได้ในรอบ 36 ปี มีสภาพคล่องในมือ 15,000 ล้านบาท ด้วยโปรโมชั่น “โปรลื่นปรื้ด” และแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน” สร้างปรากฏการณ์ให้ค่ายอื่นเดินตาม

 

แสนสิริเติบโตแบบก้าวกระโดด สวนทางบนซากปลักหักพังของเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากในรอบ 5 เดือนของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) เข้าซื้อและร่วมทุนกิจการสวนทางโควิดทั้งประเภทที่อยู่อาศัย การพัฒนาอสังหาฯเพื่อเช่าประเภทคลังสินค้าโรงงานรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี  ล่าสุดสร้างความฮือฮาได้เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XSpring ที่มีมูลค่าสูงเกือบ 2,000 ล้านบาท ขยายอาณาจักร เข้าสู่ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ แบบเต็บรูปแบบ สะท้อนว่า แสนสิริ มองเห็นอนาคตของธุรกิจนี้ ในโลกการเงินดิจิทัล เชื่อฟมโยงธุรกิจการเงินแบบปัจจุบัน สร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว ได้อย่างมหาศาลและยังช่วยกระจายความเสี่ยงที่ไม่ใช่การลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยเพียงด้านเดียวอีกต่อไป

ย้อนไปในช่วง ปลายปี 2563  แสนสิริ ซื้อล็อตใหญ่  9 บริษัทย่อยของ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U บริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS  มูลค่า 1,547.19 ล้านบาท ซึ่งบริษัทย่อยดังกล่าว แสนสิริและ U เคยร่วมทุนพัฒนาคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวร่วมกัน สัดส่วน 50:50 แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นของแสนสิริ 100% กลายเป็นเจ้าใหญ่ที่มีคอนโดมิเนียมในมือมากที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้นวันที่1เมษายน 2564 ค่ายยักษ์ใหญ่รายนี้ยังจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท เอฟทีแซด บางปะกง จำกัด ภายหลังได้เข้าถือหุ้น50:50 ในบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (พรอสเพค) บริษัท พัฒนาและบริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมและเขตปลอดอากร โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน’ย่านบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 23 บริษัทย่อยของบมจ. มั่นคง เคหะการ  บริษัทพัฒนาอสังหาฯ เก่าแก่ ในกรุงเทพมหานคร โดยมองว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมคลังสินค้า โรงงานในประเทศไทย จะได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตด้านซัปพลายเชนในอุตสาหกรรมต่างๆ จากจีนมาในภูมิภาคอาเซียน 

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ. แสนสิริถึงการขยายการลงทุน ในธุรกิจใหม่  ซึ่งได้รับคำตอบว่า ที่ผ่านมา แสนสิริมักมองหาช่องทางลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนรายได้ หมุนเวียนเข้ามาอย่างเช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี โคเวิร์ก กิงสเปซ ล่าสุด ได้ลงทุนใน XSpring  ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ หลังจาก ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถลดสต๊อกคอนโดมิเนียมออกไปได้จำนวนมากและนำเงินที่ได้ลงทุนในธุรกิจดังกล่าวโดยมีเป้าหมายระยะยาว จากผลตอบแทนที่ดีนำไปต่อยอดธุรกิจหลัก

ผ่าอาณาจักรแสนล้าน ‘แสนสิริ’ ไล่ช็อปอสังหาฯยันโทเคน

ตอกย้ำการออกมาประกาศ เข้าลงทุนใน XSpring บริษัทการเงินครบวงจรเมื่อวันที่14พฤษภาคม ของนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.  แสนสิริ ที่ระบุว่าเห็นโอกาสและเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลทั้งในประเทศและทั่วโลก ที่กำลังจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเชื่อมโลกการเงินปัจจุบันกับโลกอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนโลกธุรกิจการเงินด้วยการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่ทำทุกคนมีโอกาสเข้าถึงโลกการเงินและการลงทุนอย่างสะดวกและง่ายดายด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูง รวมทั้งสามารถเปิดรับข้อมูลการลงทุนได้อย่างครอบคลุม โปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งการรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจทางด้านการเงินสำหรับดิจิทัลอีโคโนมีหรือ Digital Financial Service ของแสนสิริ จะเพิ่มโอกาสการเติบโตของรายได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงทางการเงินและการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่ดีอยู่แล้วให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

เมื่อไล่เรียงผลการดำเนินงานธุรกิจอสังหาฯ ไตรมาสแรก ปี 2564 พบว่า มีรายรับรวม 6,827 ล้านบาท เพิ่ม 5% จาก 6,527 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายอสังหาฯ 12% สำหรับกำไรไตรมาสแรกปี 2564 มี 384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 521% เมื่อเทียบกับกำไร 62 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มาจากรายได้หลัก จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย แม้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบ รายได้จากการขายคอนโดมิเนียมและทาวน์โฮมลดลง 25% และ 18% ตามลำดับ แต่รายได้จากการขายบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มขึ้น 36% จาก 2,405 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3,272 ล้านบาทในไตรมาสนี้  จากเป้ายอดขายทั้งปี 31,000 ล้านบาท แผนเปิดโครงการใหม่อีก 24 โครงการ 26,000 ล้านบาทสังเกตว่ามีคอนโดมิเนียมเพียง 5 โครงการ ถือเป็นตัวเลขการเปิดโครงการที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของวงการสำหรับปีนี้

ขณะมูลค่าทรัพย์สินสิ้นปี 2563 มีมูลค่ารวม 114,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,830 ล้านบาท โดยสินทรัพย์หมุนเวียน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564  มูลค่า 71,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,624 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินมัดจำค่าซื้อที่ดินและต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขายในขณะที่สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน  มีจำนวน 42,929 ล้านบาท ลดลง 794 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 สาเหตุหลัก มาจากการลดลงของที่ดินรอการพัฒนา และหากลงมือในธุรกิจการเงินหลักทรัพย์ประเมินว่าปีนี้ปีหน้ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

เรียกว่า แสนสิริกลายเป็นยักษ์ใหญ่โตสวนทางวิกฤติรุนแรงโควิดไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอสังหาฯเท่านั้นยังหมายถึงการก้าวไปสู่ผู้นำด้านการเงินหลักทรัพย์ การซื้อขายโทเคนดิจิทัลเต็มรูปแบบที่น่าจับตายิ่ง!!!

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564