เว็บไชต์ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ระบุว่า พระบาทสมเด็พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนา สมณศักดิ์ "พระพรหมมงคลญาณ"(หลวงพ่อวิริยังค์ ) พระนักปฏิบัติชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณวชิโรดม"
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระพรหมมงคลญาณ เป็นพระเถระผู้เจริญในสมณคุณ ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม มั่นคงตลอดมา ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และราชอาณาจักรอย่างไพศาล ดังปรากฏในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นที่พระราชาคณะเจ้าคณะรอง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 แล้วนั้น
ครั้นต่อมา พระพรหมมงคลญาณ ได้เจริญยิ่งด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณมิได้ท้อถอย ได้ปกครอง ดูแล และให้ความอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในอารามอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนและให้ความสำคัญด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนของชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาสมาธิ การฝึกอบรมสมาธิภาวนาจิต เผยแพร่ไปทั่วประเทศ และในต่างประเทศ ก่อให้เกิดการน้อมนำธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนในยุคปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ในหลวง" โปรดเกล้าฯ สถาปนา สมณศักดิ์ "พระพรหมมงคลญาณ" ขึ้นเป็น "สมเด็จพระญาณวชิโรดม"
สรรพกรณียกิจที่ พระพรหมมงคลญาณ ได้บำเพ็ญปฏิบัติตลอดมานั้น ย่อมเกิดผลดี ทั้งแก่พระพุทธศาสนา ประเทศชาติ และประชาชนทั่วไป นับได้ว่าเป็นผู้มีความอุตสาหวิริยะ ประกอบด้วยเมตตาธิคุณและกรุณาธิคุณเกื้อกูลต่อพหูชน อุทิศตนแก่พระพุทธศาสนาและสังคมอย่างแท้จริง สมควรที่จะได้ยกย่องให้ดำรงสมณฐานันดรที่สมเด็จพระราชาคณะสืบไป
ประวัติ สมเด็จพระญาณวชิโรดม หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ เดิมชื่อ วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เป็นบุตรขุนเพ็ญภาษชนารมย์ ซึ่งรับราชการเป็นนายสถานีรถไฟ กับ นางมั่น บุญฑีย์กุล เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2463 ณ สถานีรถไฟปากเพรียว (สถานีสระบุรีในปัจจุบัน ) จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง7 คน และด้วยบิดาเป็นนายสถานีรถไฟ ชีวิตในวัยเด็กจึงจำเป็นต้องโยกย้ายที่อยู่ไปประจำที่อื่นอยู่บ่อยครั้ง เมื่ออายุได้ 11 ขวบ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดสุปัฏนาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นของจังหวัดอุบลราชธานี
ต่อมาย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2478 ได้บรรพชาที่วัดสุทธจินดาวรวิหาร อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โดยพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาดวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาได้ 10 วัน ก็ออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาเพื่อแสวงหาที่วิเวก และอุปสมบทเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2484 ขณะอายุ 21 ปี ที่วัดทรายงาม อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถร(หนู ฐิตปญโญ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กงมา จิรปุณโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้นหลวงพ่อวิริยังค์ ได้เดินธุดงค์ติดตามพระอาจารยกงมาไปในที่ต่างๆ เป็นเวลา 8 ปี วันหนึ่ง พระอาจารย์กงมาพาท่านเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทรบุรีไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อวิริยังค์ได้รับเลือกให้เป็นอุปัฏฐากอยู่ในพรรษา 4 ปี นอกพรรษา 5 ปี รวมเป็น 9 ปี ได้เดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์มั่น เรียนธรรมะอันลึกซึ้ง และจดคำสอนของหลวงปู่มั่นบางตอนไว้ และได้เผยแพร่คำสอนนี้แก่สาธารณชน ในหนังสือที่ชื่อว่า "มุตโตทัย"
"หลวงพ่อวิริยังค์" เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร ( เมื่อปีพ.ศ. 2506 จนถึงปัจจุบัน ) มีอายุ 100 ปี พรรษา 79 ท่านมีลูกศิษย์ที่ศรัทธาป็นจำนวนมาก และยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ เมื่อวันที่ 24ก.ค.2540 ที่วัดธรรมมงคลถาบุญญนนทวิหาร เพื่อสอนสมาธิสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนปัจจุบันมีการขยายสาขาสถาบันพลังจิตตานุภาพไปแล้ว 287 สาขาทั่วประเทศ และในต่างประเทศที่แคนาดา 6 แห่ง รวมทั้งที่สหรัฐอเมริกาด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ประวัติเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล
ขอบคุณรูปภาพ : ชมรมสารธรรมล้านนา