อิเกียสร้างดีเอ็นเอ สำนึกความยั่งยืนทีมงาน

11 พ.ย. 2560 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2560 | 18:04 น.
การดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องที่พูดกันมากขึ้นเรื่อยๆ อิเกีย ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดย “ลาร์ช สเวนสัน” ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท อิคาโน่รีเทล เอเชียฯ (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้บริหาร อิเกีย บอกว่า เริ่มต้นเรื่องของความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดมาร์เก็ตติ้ง และปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมแมเนจเมนต์ ของอิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายต่อไป...แผนกของความยั่งยืนจะต้องหายไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของในทุกๆ แผนก เพื่อทำให้การพัฒนางานของอิเกียทั้งหมดเป็นการทำงานอย่างยั่งยืน

MP27-3312-5B “เราต้องการให้ทุกแผนกคำนึงถึง Sustainability ในการทำงาน ให้เป็นธรรมชาติของการทำงาน โดยไม่ต้องแยกออกมาเป็นแผนก เพื่อคอยดูแลเรื่องนี้ โดยเฉพาะ จุดประสงค์ของการมี Sustainability ก็เพื่อจะทำให้ทุกคนเอาเรื่อง Sustainability ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เมื่อทุกคนทำได้ แผนกนี้ก็จะหายไป เรามีเป้าว่า ประมาณ 3 ปีครึ่ง ทุกๆ ที่จะมีเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในการทำงาน และในระยะ 5 ปี แผนก Sustainability จะต้องหายไป เริ่มนับตั้งแต่ปี 2016”

MP27-3312-2B MP27-3312-4B อิเกียสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรตั้งแต่การคัดเลือกพนักงาน ที่มีแนวความคิดเดียวกัน การพัฒนาสินค้า การกำหนดชั่วโมงการทำงาน การวางกฎระเบียบ การสร้างความรับผิดชอบ ทุกอย่างมีเรื่องของความยั่งยืนเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด
เรื่องสินค้าในสโตร์อิเกีย มีฟังก์ชัน หรือคุณลักษณะที่ช่วยให้คนได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น พาร์ตเนอร์ของอิเกียที่พัฒนาสินค้าร่วมกัน ก็มีเรื่องความยั่งยืนเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น แม่ฟ้าหลวง ดอยตุง ที่อิเกียเข้าไปพัฒนาสินค้าร่วมกัน และนำสินค้าของเขามาจำหน่าย การร่วมมือกับมีชัย วีระไวทยะ โรงเรียนไม้ไผ่ ทำโครงการให้นักเรียนจากโรงเรียนนี้มาฝึกงานที่อิเกีย และมีการพาพนักงานไปเยี่ยมชมโรงเรียน ขณะนี้กำลังคุยเพิ่มเติมที่จะช่วยให้นักเรียนพึ่งตัวเองได้ อาจจะให้ร่วมกับคนในหมู่บ้านร่วมกันพัฒนาสินค้า เพื่อที่จะให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นวิธีการทำธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กัน

MP27-3312-1B MP27-3312-6B ส่วนของอาคาร ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ 75% ของขยะในสโตร์เรานำไปรีไซเคิลทั้งหมด และยังมีการทำ รีไซเคิล สเตชัน หรือสถานีรีไซเคิลขยะ ตั้งไว้ในส่วนของอาคาร ให้ลูกค้าสามารถนำขยะที่บ้านมาแยกทิ้งที่อิเกียได้

ในแง่ของการขาย อิเกียไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่จะมีถุงฟ้าอิเกียจำหน่ายแทน ซึ่งถุงฟ้านี้มีประกันตลอดอายุการใช้งาน ถ้าพังสามารถนำมาเปลี่ยนใบใหม่เมื่อไรก็ได้ และรายได้จากการจำหน่ายถุงฟ้า อิเกียนำไปบริจาคให้โรงเรียนในโครงการ โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) โรงเรียนเหล่านี้ เป็นโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจาก WWF ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังความรู้รักสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธีให้แก่เยาวชน โดยเริ่มต้นจากโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 20 โรงเรียน ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และภูเก็ต เข้าร่วมโครงการนี้

MP27-3312-3B MP27-3312-6B อิเกียยังให้เด็กที่เป็นสมาชิกของอิเกีย เอาหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษอื่นๆ มาแลกที่บ้านเต่าทอง แล้วเด็กจะได้แต้ม ไปซื้อสินค้าได้ ส่วนกระดาษที่เด็กนำมา อิเกียก็เอาไปให้ลูกค้าใช้แพ็กของ เช่นเดียวกับในศูนย์อาหาร ก็มีการนำกล่องรีไซเคิลมาใช้ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก อาหารทะเลที่จำหน่าย ก็ได้ใบรับรองว่า เลี้ยงมาเพื่อเป็นอาหาร

“ลาร์ช” บอกว่า ทุกขั้นตอนในการทำธุรกิจของอิเกีย มีเรื่องของความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการทั้งหมด โดยความยั่งยืนถือเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของอิเกีย ที่ว่า caring for people and planet เป็นส่วนหนึ่งของ Work Descriptions ที่ทุกคนทำ และเป็นเรื่องหนึ่งที่สื่อสารกับพนักงานตลอด โดยมีการกำหนดเป็นเกณฑ์ว่า ลดของเสียไปได้เท่าไร ลดการใช้พลังงานไปได้เท่าไร ประหยัดนํ้าได้เท่าไร ใช้นํ้าไปเท่าไร ถือเป็นเคพีไอ เป็นเกณฑ์ในการวัดการทำงานของพนักงานไปด้วยในตัว

MP27-3312-1B นี่คือ การสร้างความยั่งยืน ให้เป็นดีเอ็นเอของอิเกียเลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,312 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว