เฮงเค็ล องค์กรระดับโลกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2515 โดยมีโรงงานในไทยถึง 3 แห่ง เป็นโรงงานผลิตเทคโนโลยีกาว 2 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์ดูแลความงามอีก 1 แห่ง ในชื่อบริษัท ยามาฮัทสึ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งปัจจุบันมีแม่ทัพใหญ่เป็นหญิงเก่งและแกร่ง “วรรณฤดี จิตติเรืองเกียรติ” ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงงาน
การเป็นผู้หญิง แต่เข้ามาทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ ดูแลโรงงานขนาดใหญ่ระดับโกลบัล ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเกินความสามารถของผู้หญิงที่ชื่อ “วรรณฤดี” เธอคนนี้เข้าร่วมงานกับเฮงเค็ลในหน่วยธุรกิจบิวตี้แคร์ตั้งแต่ปี 2539 ในฐานะนักเคมี โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท และได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายการดำเนินธุรกิจของเฮงเค็ล
“วรรณฤดี” เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ทำงานในหน่วยงานควบคุมคุณภาพ ได้รับการถ่ายทอด และสอนงานจากเพื่อนร่วมงานต่างชาติในแผนกอาร์แอนด์ดีและวิศวกรรม ซึ่งตรงนั้นทำให้เธอมี International Mindset สามารถทำงานร่วมกับต่างชาติ ท่ามกลางความหลากหลายวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และนั่นคือจุดสำคัญ ที่ทำให้องค์กรเห็นว่า เธอมีความเหมาะสมที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กร
หลังจากนั้น ก็มีโอกาสได้ทำในตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งยังไม่เคยมีในเฮงเค็ล บิวตี้แคร์ ไทยแลนด์ เลย นั่นคือแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำเป็นผู้จัดการ ดูแลบริหารโครงการ โปรเจ็กต์ที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เอามาผลิตในประเทศไทย ดูตั้งแต่เริ่มต้น จนออกวางจำหน่าย ทำอยู่ 5 ปี หลังจากนั้นได้รับการโปรโมตเป็นผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน และอีก 6 เดือน ก็ได้เป็นผู้จัดการโรงงาน
“การเปลี่ยนแปลงมายด์เซต...การเปิดรับ อยู่ที่ตัวเราเอง คิดว่าเราเหมือนต้นกล้วย อยู่ตรงไหนก็ขึ้นได้ง่าย ถึงดินจะไม่ดี น้ำจะไม่พอ เราก็โตได้ และต้นกล้วยยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ที่เปรียบตัวเองเป็นแบบนั้นเพราะเราสามารถทำอะไรก็ได้ ทำไฟแนนซ์ ทำจัดซื้อ หรืองานอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่แค่สายงานที่เรียนจบมา”
การเติบโตในสายงาน จนขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดในโรงงานผลิตภัณฑ์ดูแลความงามของเฮงเค็ล “วรรณฤดี” บอกว่า มันคือการใส่ใจที่จะเรียนรู้ และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้จากเพื่อนร่วมงานต่างชาติ เธอได้รวบรวมประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง มาบริหารงานให้เดินหน้าอย่างราบรื่น ควบคู่กับการบริหารทีมงานให้แข็งแกร่ง และสร้างความร่วมมือในการทำงาน
“เท่าที่ทำงานกับองค์กรนี้ ค่อนข้างเชื่อมั่นในองค์กร และเรามักจะเป็นคนที่ได้รับโอกาสที่ดีจากองค์กรเสมอ เมื่อมีโอกาสดีๆ ที่สามารถทำงานให้ก้าวหน้าขึ้น เราเองก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ ทำไมเราจะไม่ทำ เราอยากลอง อยากทำอะไรที่ท้าทายอยู่แล้ว”
“วรรณฤดี” บอกว่า การดูแลเรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหลากหลายด้าน
จากพื้นฐานเรื่องกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพสินค้า ทำให้รู้มาตรฐานสินค้า ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคุณภาพสินค้า ข้อกำหนดของแต่ละประเทศในการนำสินค้าไปวางจำหน่าย เพราะฉะนั้น การเข้ามานั่งทำหน้าที่บริหารโรงงาน ต้องใช้ความรู้หลายด้าน รวมทั้งความรู้ด้านเคมี และการดีไซน์
อย่างปัญหาล่าสุด จากวิกฤติการณ์ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เธอบอกว่า ส่วนของโรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบ แม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ตเนอร์ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสาขาของเฮงเค็ลในประเทศต่างๆ ก็ทำให้ทีมงานในแต่ละประเทศ สามารถประสานงาน การส่งวัตถุดิบ ก็มีความล่าช้าบ้าง แต่ไม่ส่งผลกับแผนการผลิต เพราะมีการวางแผนล่วงหน้าอยู่แล้ว
ส่วนการบริหารคน ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ที่ผู้นำต้องพัฒนาทักษะของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งองค์กรได้สนับสนุนคอร์สอบรมด้านต่างๆ ทั้งฮาร์ดสกิลและซอฟต์สกิล อยู่แล้ว ผ่าน “เฮงเค็ล อะคาเดมี่” ที่มีทั้งคลาสรูมเทรนนิ่ง และออนไลน์เทรนนิ่ง โดยส่วนของเธอเองที่ต้องทำหน้าที่บริหารและดูแลทีมงานในโรงงาน สิ่งสำคัญคือการวางคนให้เหมาะกับงาน คัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม และการมอบหมายงานให้กับคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ ความเชื่อใจกัน เราต้องให้ความเชื่อใจกับทีมงาน ซึ่งจะทำให้เขามีความเชื่อใจกับผู้นำของเขาด้วย รวมไปถึงการสนับสนุนทีมงานแต่ละสิ่งที่เขาต้องการ
นั่นคือมุมมองและแนวคิดที่ทำให้ “วรรณฤดี” เติบใหญ่ และยังมีความพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อีกเรื่อยๆ เมื่อได้รับโอกาสที่ดี
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 28 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563