การก้าวมาสู่การเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม เราต่างล้วนผ่านการทำงานทุกอย่างมาแล้วด้วยตัวเองทั้งหาสินค้า หาลูกค้า กำหนดแผนการขาย อยู่ในวิกฤต หมุนเงินไม่ทัน จนเป็นอีกหนึ่งความกดดันว่า วันหนึ่งถ้าเรามีเงิน ได้เป็นเจ้านาย ไม่ต้องมาทำงานหนักแบบนี้เราอยากมีชีวิตอย่างไร สำหรับปูนิ่มตลอด 2 ปี
กว่าที่ผ่านมา การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้เราไม่เพียงเรียนรู้ว่าการเป็นลูกน้องที่เจ้านายรักควรเป็นอย่างไร แต่การเป็นเจ้านายที่ลูกน้องจะรักและพร้อมถวายชีวิตให้ควรจะเป็นอย่างไรด้วย
ช่วงสุดสัปดาห์ในวาระวันแรงงานนี้ ปูนิ่มขอเผยเคล็ดลับการเป็น “เจ้านาย” ที่น่ารักสำหรับลูกน้องนะคะ
1.เป็นเจ้านายต้องกล้าลุย: การเป็นเจ้านายก็เหมือนกับการเป็นแม่ทัพ ทัพเราจะแพ้หรือชนะอยู่ที่การตัดสินใจของเราเพียงเสี้ยววินาที ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดสูงขนาดนี้ การลุยเท่ากับการเพิ่มช่องทางรายได้ ยิ่งลุยมากโอกาสยิ่งมาก เชื่อสิคะลูกน้องเราหรือไม่ว่าใครก็ตามล้วนแต่อยากทำงานกับเจ้านายหรือองค์กรที่ตั้งใจเดินไปข้างหน้า มากกว่าการย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังปล่อยให้คนอื่นแซงโดยไม่สู้อะไรเลย
2.เป็นเจ้านายต้องกล้ารับ: คือต้องกล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง กล้าออกหน้ารับแทนลูกน้อง กล้ารับทุกผลที่จะเกิดขึ้นในบริษัท จุดนี้แม้จะเป็นความรับผิดชอบที่เจ้านายทุกคนต้องมี แต่การแสดงออกมักจะแตกต่างกัน การกล้ารับที่จะได้ใจลูกน้องต้องเป็นปฏิบัติการเร่งด่วน เพราะความผิดพลาด หรือผลที่เกิดขึ้นหากปล่อยเวลาเนิ่นนานไปความเข้าใจผิดก็จะยิ่งกระจายและพอกพูน แต่เมื่อเรารับมาไว้ที่ตัวของเราเอง ข้อดีคือเราสามารถควบคุมความรุนแรงได้ และที่สำคัญคือภาพลักษณ์ของเราในสายตาลูกน้องจะเปลี่ยนจากเจ้านายและคนที่รักและเทิดทูนสุดหัวใจอย่างแน่นอน
3.เป็นเจ้านายต้อง ทำให้เห็น สั่งให้เป็น สอนให้ถูก: เรารู้กันดีว่าการจะสั่งใครให้ทำอะไรอย่างถูกต้องและถูกใจนั้น ขั้นแรกเราต้องรู้จริง ซึ่งเกิดจากการลงไปทำเองก่อนจนรู้ลึกทุกกระบวนการ การทำเองช่วยให้เราเห็นช่องโหว่ เห็นส่วนเกินและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า และทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ทัน การสั่งให้เป็นคือการรู้ระดับและจังหวะที่ควรใช้คำสั่ง ไม่มีใครในโลกนี้ชอบให้ใครมาสั่งหรอกค่ะ แต่หากเราสามารถทำให้ลูกน้องหรือทีมงานเราทำให้ด้วยความสมัครใจ รับรองว่าผลที่ได้ดีกว่าที่คิดอย่างแน่นอน ส่วนการสอนให้ถูกนั้น สำหรับปูนิ่มคือการทำให้เห็น ทำให้ดูว่าสิ่งที่เราทำเป็นอย่างไร และการสอนจะไม่ใช่การมานั่งสอนแบบตรงๆ การสอนต้องขึ้นอยู่กับกาละและเทศะ หากการสอนนั้นอยู่ในช่วงอารมณ์ที่เค้าเรียกกันว่า “พลังดราม่าสูง” หรืออยู่ในช่วงความกดดันสูงสุด การสอนนั้นๆ จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน
นี่เป็นเพียงข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่ปูนิ่มฝากไว้สำหรับทุกคนนะคะ อย่าลืมว่าทุกคนเป็นทั้งเจ้านายและลูกน้องในคนๆ เดียวกันตลอดเวลา การรู้หลักและเลือกปฏิบัติให้ถูกนอกจากทำให้เราสบายใจแล้ว คำว่า “เป็นที่รัก” จะเป็นอีกหนึ่งคำประจำตัวเราอย่างแน่นอน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559