"เกรียงศักดิ์ กิติเกียรติศักดิ์" ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอ แอนด์ เอ ลากูน จำกัด ผู้บริหารโรงแรมสุพิชฌาย์ พูล แอคเซส โฮเต็ล และโรงแรมแกรนด์สุพิชฌาย์ซิตี้ โฮเต็ล ภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าโควิดมาเยือน กิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่ง มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 90% แต่ปลายเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา อัตราการเข้าพักหายไปเรื่อยๆ จนเหลือศูนย์ เหตุเพราะลูกค้า 100% คือต่างชาติ
ในวันนี้ โรงแรมทั้ง 2 แห่งต้องคิดใหม่ทำใหม่ การหวังพึ่งต่างชาติเพียงอย่างเดียว คือความผิดพลาด ที่เกิดผลกระทบรุนแรงและทันทีที่ประเทศต้องล็อกดาวน์ การกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยแผนธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งผู้บริหารโรงแรมสุพิชฌาย์ฯ บอกเลยว่า นับจากนี้ ต้องบาลานซ์กลุ่มนักท่องเที่ยว อย่างน้อยๆ ต้องมีสัดส่วนของลูกค้าคนไทย 30% การทำตลาดหวังพึ่งเอเยนต์ต่างประเทศอย่างเดียวไมไ่ด้ ต้องมีเอเย่นต์ไทย และเปิดช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม ซึ่งได้รับการสนับสนุนการให้ความรู้จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ในโครงการอบรมเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร SCB IEP Bootcamp : The Hospita;ity Survival
ตั้งแต่ช่วงที่ไ่ด้รับผลกระทบจากโควิด ทางโรงแรมได้พยายามสร้างรายได้และกระแสเงินสด เพื่อใช้ในการบริหารและดูแลพนักงาน โดยจัดบุฟเฟต์อาหารไทยจำหน่าย แขกคนไทยที่เข้ามารับประทานอาหาร ได้เห็นว่าโรงแรมมีการตกแต่งที่สวยงาม มีสระน้ำขนาดใหญ่ บรรยากาศดี ก็มีการถ่ายรูปเช็คอิน มีภาพเผยแพร่ในโลกโซเชี่ยล ถือเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รู้จักและอยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศดีๆ ที่โรงแรม
ที่สำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทย คือ การจัดแพ็คเกจราคาถูกให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย จากเดิมที่เคยขายราคาห้องพักอยู่ที่ 2,500 - 3,500 บาทต่อคือ ลดลงเหลือ 750 -850 บาทต่อคือ และยังเจ้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รัฐจ่ายให้ 40% นักท่องเที่ยวจ่ายแค่ 60% ทำให้ขณะนี้มีอัตราการเข้าพักกลับเข้ามาแล้วกว่า 30% และคาดว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้
"เกรียงศักดิ์" กล่าวว่า บริษัทฯ ยังลงทุนโรงแรมแบบพูลวิลล่า 86 หลัง อีกหนึ่งแห่งที่เกาะสิเหร่ ภูเก็ต ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 50% และจะเปิดให้บริการประมาณพฤษภาคมปีหน้า กลยุทธ์การทำตลาดของโรงแรมแห่งนี้ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก จากเดิมที่ตั้งใจจะเปิดรับผู้เข้าพักในราคา 6,000-7,000 บาทต่อคืน ขณะนี้ได้ปรับให้มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น มีนักการตลาดมืออาชีพเข้ามาเสริม
ทั้งหมดทั้งมวล ก็ต้องรอดูสถานการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน และยังต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ การทำตลาดของโรงแรมในกลุ่มของ "สุพิชฌาย์" นับจากนี้ ต้องบาลานซ์พอร์ท ไม่หวังพึ่งเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องมีแผนรองรับความเสี่ยง ต้องมีช่องทางรายได้ที่มากกว่าหนึ่ง เพื่อสร้างกระแสเงินสดสำรองไว้ตลอดเวลา
ส่วนของผู้ประกอบการ ก็ต้องสู้ และปรับตัวเองเพื่ออยู่รอด แต่ผลดี คือสิ่งที่ตกมาสู่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะมีทางเลือกและตัวเลือกที่ดีขึ้น ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น ใครว่าของดีราคาถูกไม่มี ตอนนี้ โควิดทำให้ทุกอย่างเป็นจริงแล้ว ของดี๊ ดี ราคาถู๊ก ถูก มีให้นักท่องเที่ยวไทยช้อปได้เพลินๆ มากมายจริงๆ
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,623 วันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563