ก็เรียกได้ว่า เริ่มเห็นเม็ดเงินเข้ามาสะพัดกันบ้างแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นจำนวนน้อยๆ มากๆ หากเทียบกับรายได้ที่ภูเก็ตเคยทำได้จากการท่องเที่ยว ตัวเลขปีล่าสุด 4.7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาราว 10 ล้านคน ขณะที่โรงแรมที่พักในภูเก็ต มีอยู่ประมาณ 1,800 แห่ง จำนวนห้องพักมีมากกว่า 1 แสนห้อง
“นภสร ค้าขาย” ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต เล่าว่า ช่วงที่ประเทศไทยเริ่มคลายล็อกดาวน์ มีโรงแรมกลับมาเปิดบริการได้เพียง 125 ห้อง ห้องพักเหลือประมาณ 8,400 ห้อง ซึ่งการกลับมาของการท่องเที่ยวภูเก็ต ถือเป็นการค่อยๆ แง้มประตูอย่างระมัดระวัง เพราะโควิด-19 ยังไม่ได้ไปไหนไกล ประเทศไทยจึงยังต้องระมัดระวังเต็มที่ การเปิดรับนักท่องเที่ยว 2 ล็อตแรก ถือเป็นเพียงการเริ่มต้น แง้มประตูอย่างที่ว่า
ขณะที่ภาครัฐ ยังต้องระแวดระวังเต็มที่ ในมุมของผู้ประกอบการอย่าง “นิวัฒน์ จันทร์ตระกูล” เจ้าของกิจการโรงแรม 6 แห่ง ในจังหวัดภูเก็ต เช่น โรงแรม A2 รีสอร์ต โรงแรมแอคเซส รีสอร์ต แอนด์ วิลล่า โรงแรมอิมเพรส รีสอร์ต กล่าวว่า การทำวีซ่าพิเศษ และเปิดรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่สามารถคัฟเว่อร์ความเสียหายจากช่วงที่ผ่านมาได้
“ทางหนึ่งที่จะช่วยภูเก็ตได้ คือ การเปิดประเทศ แต่ก็ต้องทำประชาพิจารณ์ ยกตัวอย่าง ตอนเกิดโควิดใหม่ๆ ภูเก็ตแต่ละตำบลป้องกันตัวเอง เดินทางข้ามตำบลไม่ได้ ทำไมไม่เอาวิธีนั้นมาใช้ เดินทางเข้าออกทางเดียว วันนี้ ทำไมไม่ทดลองปิดภูเก็ต ทำเป็นมาตรการรับคนต่างชาติเข้ามา แล้วเราดูแลกันเอง เที่ยวในกะรน ก็อยู่ที่กะรน เที่ยวป่าตองก็อยู่ป่าตอง แต่ต้องทำประชาพิจารณ์ว่า ประชาชนตรงนั้นรับมาตรการนี้ได้ไหม ถ้ารับได้ รัฐจะช่วยอะไรเขาได้บ้างกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อันนี้ทดลองทำได้ ทำที่ภูเก็ต สมุย เกาะช้าง เพื่อให้มีรายได้เข้ามา ถ้าเขาป่วย เราก็ให้เขามารักษาที่เรา ทำเฮลท์แคร์เลย”
“นิวัฒน์” ยอมรับว่า การเปิดประเทศ อาจเป็นความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง แต่ความเสียหายจากการไม่มีรายได้ท่องเที่ยวเข้ามาเลย ส่งผลกระทบกับคนในหลายๆ กลุ่ม เพราะอย่างที่ภูเก็ต พืชผัก อาหาร ก็นำเข้ามาจากจังหวัดอื่น เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่มีการนำเข้าสิ่งเหล่านั้น ผลกระทบจึงเกิดในวงกว้าง
การที่โรงแรมต่างๆ กลับมาเปิด ในช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ สำหรับโรงแรมในกลุ่ม A2 “ธรรมวรี จันทร์ตระกูล” ผู้ช่วยผู้บริหารการเงิน บอกว่า กลับมาเปิดได้เพียงแห่งเดียว และรายได้ที่กลับมาก็ยังไม่คัฟเว่อร์ ยังต้องขาดทุนอยู่เดือนละ 2 แสนบาท เพราะต้องมีค่าบริหารจัดการ เพราะฉะนั้น นอกจากความพยายามลดต้นทุนต่างๆ ที่พอทำได้แล้ว ก็ต้องพยายามเพิ่มรายได้
วิธีการคือ มองหาตลาดคนไทย การเจาะตลาดประชุมสัมมนา การดิวกับเอเยนต์ทัวร์ในประเทศ การทำตลาดออนไลน์ และการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นคนไทยให้มาเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการลดราคา ซึ่งทุกที่ทำเหมือนกัน ทั้งโรงแรมระดับ 5-6 ดาว ก็หั่นราคาลงมาเช่นกัน
เรียกว่า ดิ้นกันสุดๆ ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐ ดิ้นกันขนาดนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบการเขาพร้อมเปิดรับ ต่างชาติที่กำลังจะทยอยเข้ามา และที่ขาดไม่ได้คือ ไทยเที่ยวไทย ที่จะต้องเข้ามาช่วยทำให้ไทยเรารอดไปด้วยกัน
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563