“สมคิด วรรณลุกขี” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เดินหน้ามาได้กว่า 30 ปี เพราะซีพีเอฟมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่ไข่เข้ามาส่งเสริมให้คำแนะนำกับเด็ก อาจารย์ และชาวบ้าน รวมทั้งให้พันธุ์ไก่ที่ดี อาหารสัตว์ที่ดี การจัดการที่ดี และการป้องกันโรคที่ดี
เมื่อได้ประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดีต้นทุนก็จะตํ่า ทำให้โครงการนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้รุ่นต่อรุ่น โรงเรียนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ สามารถทำกำไร มีอาหารให้เด็กนักเรียน มีไข่ที่นำไปจำหน่าย จากความเชี่ยวชาญที่ถูกส่งต่อ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วทั้งหมด 855 โรงเรียน และมีแผนขยายต่อเนื่องปีละ 20-25 โรงเรียน
จากความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หอการค้าญี่ปุ่น -กรุงเทพฯ หรือ เจซีซี ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนแล้ว 132 โรงเรียน และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
สำหรับการติดตามผล ซีพีเอฟได้นำระบบ CHATBOT เข้ามารวบรวมข้อมูลทุกสัปดาห์ จากแต่ละโรงเรียน ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพ และแก้ไขปัญหา พร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที การติดตามผลด้วยระบบ CHATBOT นอกจากช่วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดความยั่งยืนของโครงการอีกด้วย
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563